#PHOTOFORAIR

เปลี่ยนภาพถ่ายเพื่ออากาศที่เท่ากัน

Soft-Box
from Haze

แสงนุ่ม ๆ จากฝุ่นควันที่ปกคลุม

ทุกวันนี้ ชีวิตชาวเชียงใหม่ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม รู้จักมักคุ้นกับสภาพอากาศระดับ 150 – 500 AQI เป็นอย่างดี เพราะบรรยากาศเช่นนี้ ปกคลุมเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่เช้ายันเช้า กินข้าว ปวดขี้ ก็ต้องพบเจอกับฝุ่นนี้อย่างหลีกหนีไม่ได้ ด้วยสภาพการณ์อย่างนี้เอง มันจึงเปรียบเสมือนการใช้ Softbox ครอบคลุมดวงอาทิตย์อันร้อนแรงในหน้าแล้งเอาไว้ ทำให้ภาพที่คนเชียงใหม่เห็นค่อนข้างนุ่มนวล Low-contrast จนแทบขาดอากาศหายใจ

Creative tip – ลองปรับภาพถ่ายของคุณที่สดใสด้วยการลด saturation และ exposure หลังจากใช้ CNXPM2.5 จะทำให้คุณได้ภาพถ่ายที่หม่นหมองเหมือนอยู่ในเชียงใหม่ในทุก ๆ วัน

Warm Tone by Wildfire

โทนอุ่น ๆ จากไฟป่ายามพระอาทิตย์ตก

อีกจุดเด่นสำคัญของ CNXPM2.5 คือสีเหลืองอบอวนอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับแรงบัลดาลใจมากจากสีของท้องฟ้ายามเย็นและไฟป่าที่ไหม้อยู่บนดอยสุเทพ ทำให้ท้องฟ้าเชียงใหม่ปกคลุมไปด้วยสีเหลืองที่ดูเหมือตอนจบของหนังรักโรแมนติก แต่พระเอกต้องใส่หน้ากากอนามัยระหว่างจูบนางเอก

Creative tip – เพื่อที่จะทำให้ได้โทนสีเหลืองปนส้มคล้ายกับท้องฟ้ายามเย็นช่วงไฟป่าดอยสุเทพ แนะนำให้ปรับ Temp ไปที่ช่วง 5500 และ Tint ไปที่ช่วงสีเขียวเพิ่ม

Faded Look by Air pollution

โทนหม่น ๆ จากฝุ่นควัน 500 AQI

faded look นี้จะเห็นได้เฉพาะช่วงที่ฝุ่นควันมีความหนาแน่นสูงหรือตั้งแต่ 500 AQI ขึ้นไป  ลักษณะสำคัญคือ Faded look ที่ลอกแบบมาจนแทบจะถูกฟ้องลิขสิทธิ์จากฝุ่นควันอันลอยล่องไม่พร่องจากท้องฟ้าเชียงใหม่ ควันที่พร้อมร่วมทุกกิจกรรมที่คุณได้ทำ ไม่ว่าจะเดินซื้อเห็ดโคนในตลาดหรือใส่บาตรยามเช้า หรือกินข้าวตอนกลางวันหรือนอนฝันที่โรงเรียน หรือเวียนเทียนวันพระใหญ่ แน่นอนว่ามันจะทำให้ทุกภาพของคนดูเบา เหมือนทาทับด้วยสีเทาบาง ๆ ไว้ จนใครเห็นภาพจำต้องไอ เพราะมันไปสะกิดต่อมอะไรในลำคอ และโพรงจมูก

Creative tip – preset นี้จะเหมาะเจาะอย่างยิ่งกับภาพ Landscape ที่ไม่ได้มีผู้คนเป็นจุดสนใจ เพราะด้านบนของภาพมีการเพิ่ม dehaze

เปลี่ยนภาพของคุณผ่าน
#CNXPM2.

จำนวนเงินที่ได้แล้ว

0

บาท

จำนวนหน้ากาก N95

0

ชิ้น

อ้างอิงราคาจากที่นี้

แม้แต่อากาศหายใจของเรายังไม่เท่ากัน

“ปัญหาของผมกับสภาพอากาศในเชียงใหม่เริ่มต้นด้วยความสงสัยว่าทำไมจึงมีชาวบ้านเสียชีวิตจากการดับไฟป่าถึง 5 คนในปีที่แล้ว และระหว่างที่กำลังค้นหาคำตอบอยู่นั้น อยู่ ๆ ผมก็รู้สึกเหมือนน้ำมูกกำลังไหลจึงได้เอามือไปเช็ดและพบว่ามันคือเลือดที่กำลังไหลออกจากจมูก”

ผมอยากลองชวนให้คุณลองจินตนาการดูว่าตื่นมาวันหนึ่ง คุณอยู่ในเมืองที่เมื่อออกไปทำงานข้างนอก คุณต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาเพื่อลดการแสบจมูกจากฝุ่นควันที่ลอยปกคลุมอยู่ในเมือง และเมื่อเวลานอนหากอยากจะนอนอย่างสบายไร้การคัดจมูกคุณก็ต้องหาหน้ากากมาสวมใส่ขณะนอน ถ้าหากโชคดีคุณจะแค่ตื่นมาพร้อมกับรอยยับยู่ยี่บนแก้ม แต่หากโชคร้ายคุณจะตื่นมาพร้อมกับเลือดที่ไหลออกทางจมูก

1 เดือน ในเชียงใหม่ , ตายไวขึ้น 1 วัน

ผมคือคนหนึ่งที่เคยต้องใส่หน้ากากตลอดช่วง 24 ชั่วโมง เพียงเพราะว่าตอนนั้นไม่สามารถจ่ายค่าเครื่องฟอกอากาศที่จะช่วยให้ผมรอดจากฝุ่นควันที่ปกคลุมอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืนได้

หมอกควัน, ฝุ่นควัน,  PM2.5 หลากหลายคำถูกใช้เรียกปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณเขตตัวเมืองเชียงใหม่ที่ต้องใช้ชีวิตกว่า 3 เดือนภายใต้หมอกควันพิษที่ปกคลุมไปทั่วทั้งเมืองตลอด 24 ชั่วโมง หลายคนเลือกที่จะมีชีวิตรอดด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจอย่างเครื่องฟอกอากาศเพื่อให้อยู่รอดภายใต้ช่วงเดือนที่เป็นอันตรายนี้

ความอันตรายของการอยู่ภายใต้ปรากฏการณ์ฝุ่นควันนี้ เห็นได้จากข้อมูลจากกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียงของกรมควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 จนถึงปี ค.ศ. 2020 ที่บอกว่าตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนเมษายนจะเป็นช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 มากที่สุดตั้งแต่ 44 มคก./ลบ.ม. ไปจนถึง 110 มคก./ลบ. ซึ่งตั้งแต่ 51 มคก./ลบ.ม. จะเป็นระดับที่ “เริ่มมีผลต่อสุขภาพ” และการที่ต้องอยู่ภายใต้ฝุ่นควัน PM2.5 นี้ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมากมาย

จากการคำนวนของ Apps “Sh**t! I Smoke”  ระบุว่าหากคุณอยู่ในเชียงใหม่หนึ่ง เดือนในช่วงเดือนเมษายนเท่ากับว่าคุณได้สูบบุหรี่ 120 ตัว!! และถ้าเอาตัวเลขนี้มาคำนวณกับผลงานวิจัยของ Richard Doll จาก University of Bristol บอกว่าสูบบุหรี่ 1 ตัวลดเวลาชีวิต 11 นาที เท่ากับว่าถ้าคุณอยู่ในเชียงใหม่จะตายไวขึ้น 22 ชั่วโมงต่อเดือนหรือประมาณ 1 วัน

แต่มันจะไม่ใช่ปัญหาถ้าคุณสามารถซื้อเครื่องฟอกอากาศที่ราคาอย่างน้อย 3,000 บาทที่ทำให้คุณเพียงแค่ได้มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ แต่เราจะต้องจ่ายกันสักเท่าไหร่? จากอากาศที่ไม่สามารถหายใจได้นี้เองทำให้หลายคนที่พอจะมีทุนอยู่บ้างได้หันไปหาเครื่องฟอกอากาศเพื่อมาช่วยพยุงชีวิตเอาไว้จนทำให้เครื่องฟอกอากาศได้กลายเป็นสินค้าหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงวิกฤติฝุ่นควันนี้ เห็นได้จากสถิติของกรมศุลกากรที่บอกว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 จนถึงเดือนกันยายนปี ค.ศ. 2020 ประเทศไทยได้นำเข้าเครื่องฟอกอากาศแล้วเป็นมูลค่ากว่า 9 พันล้านบาท หรือประมาณ 12  ล้านเครื่องได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยแล้ว

แต่ถ้าคุณจ่ายไม่ไหวล่ะ? 

ผมเป็นหนึ่งในคนที่ต้องหยิบยืมเงินมาเพื่อซื้อเครื่องฟอกอากาศหลังจากเลือดไหลออกจากจมูกเป็นครั้งที่ 3 ในรอบเดือน ผมเลี่ยงที่จะต้องเสียเงินซื้อเครื่องฟอกอากาศมาตลอดด้วยเหตุผลที่ว่ามันยังไม่จำเป็นมากนักในตอนนั้นและผมยังหนุ่มยังแน่นน่าจะ “ทนไหว” อีกทั้งก็ไม่ได้มีเงินสำรองมากพอที่จะมาจ่ายให้กับการหายใจในราคา 3000-5000 บาทและยังไม่รวมไส้กรองที่ต้องเปลี่ยนรวมถึงค่าไฟ ทำให้ผมเลี่ยงการซื้อเครื่องฟอกอากาศมาตลอด จนกระทั่งมีเลือดไหลออกจากจมูกในขณะที่พยายาม google หาสาเหตุของควันในเมืองที่ผมอาศัยอยู่

และผมไม่ใช่แค่คนเดียวที่มีปัญหานี้ตามสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2561 ระบุว่าเฉพาะในตัวเมืองเชียงใหม่ มี “จำนวนคนจน” อยู่ที่ 149,000 คน จากทั้งหมด 1,388,800 ในภาคเหนือ ตัวเลขนี้อาจจะไม่เที่ยงตรงนักเพราะยังไม่ได้รวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และประชากรแฝงในเชียงใหม่อย่างตัวผม แต่อย่างน้อยก็น่าจะบอกเราได้ว่ามีผู้คนอย่างน้อย ๆ กว่า 100,000 คนที่อาจจะต้องการอากาศหายใจที่ดีเหมือนกับผม

เครื่องฟอกอากาศกลายเป็นเรื่องปกติของชาวไทยโดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ แต่กลายเป็น​ของหรูหรา สำหรับผมและอีกหลายคน หลายครอบครัวที่ต้องอยู่ในสถานการณ์แบบผมหรืออาจจะแย่กว่าด้วยซ้ำ แต่มันควรเป็นอย่างนั้นเหรอ

ผมคิดว่า “เราไม่ควรที่จะต้องจ่ายเพื่อหายใจ” อากาศหายใจที่บริสุทธิ์ไม่ควรจะเป็นเรื่องของคนที่มีเงินจ่ายไหว แต่มันควรจะเป็นของทุก ๆ คน อย่างเท่า ๆ กัน ดังนั้นในขณะที่เรายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นควันนี้ได้ อย่างน้อยทุก ๆ คนควรได้หายใจเท่า ๆ กัน

เจ็บคอก็กินน้ำ แสบตาก็ล้างหน้า

จากการสำรวจเบื้องต้นในชุมชนของแรงงานข้ามชาติร่วมกับกลุ่มที่ทำงานเรื่องสิทธิของแรงงานอย่าง  Titang  พบว่า เรื่องฝุ่นควัน P.M. 2.5 เป็นเพียงปัญหาเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับปัญหาอื่น ๆ ที่กลุ่มแรงงานต้องเจอทั้งเรื่องความไม่มั่นคงทางด้านรายได้ ค่าใช้จ่ายสำหรับเอกสารต่าง ๆ ที่ทำให้อยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย หรือแม้แต่สภาพการทำงานที่หนักและอันตรายอยู่แล้ว โดยเฉพาะกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง “ตอนทำงานก็มีฝุ่นควันจากลูกหมู (เครื่องเจียรไฟฟ้า) อยู่แล้วเต็มไปหมด แยกไม่ออกหรอกว่าอันไหน P.M.2.5 อันไหนฝุ่นจากลูกหมู” คำพูดของจายแสง แรงงานข้ามชาติชาวไทยใหญ่ที่เล่าให้ฟัง เมื่อเราถามถึงเรื่องฝุ่นควันในที่ทำงานช่วงแต่หลายคนก็เห็นถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งต่อลูกหลาน หรือตัวเอง อย่างการแสบตา หรือแสบคอ ในช่วงที่มีฝุ่นควันมาก หลายคนก็ตอบว่าถ้าเป็นมาก ๆ ก็เพียงแค่ล้างหน้าล้างตา แล้วก็ดื่มน้ำเพิ่ม

แต่เมื่อถามว่าแก้ปัญหาอย่างไรในช่วงที่ฝุ่นควันพุ่งสูง ทุกคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าทำได้เพียงแค่ใส่หน้ากาก และเป็นเพียงหน้ากากอนามัยเท่านั้นที่พอจะจ่ายไหว แต่หน้ากาก N95 ที่ใช้กันฝุ่นควันนั้น หลายคนตอบเพียงแต่ว่าไม่รู้จัก และเมื่อเราบอกราคาตลาดไป (60-90 บาท) ทุกคนก็ต่างบอกกันว่าด้วยรายได้ประมาณ 10,000 ต้น ๆ ต่อเดือนคงไม่สามารถไปซื้ออุปกรณ์เหล่านั้นมาใช้ได้ โดยไม่ต้องพูดถึงเครื่องฟอกอากาศที่ราคา 3,000-4,000 บาท ที่กลายเป็นเรื่องที่เกินเอื้อม กลายเป็นว่าแม้จะอยู่ในวิกฤติฝุ่นควันเหมือนกันแต่กลุ่มแรงงานกลุ่มนี้กลับได้รับผลกระทบที่ไม่เท่ากัน 

สำรวจความคิดเห็นและผลกระทบของแรงงานข้ามชาติ ในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

ในปัจจุบันที่เรากำลังรอการเกิดขึ้นของกฎหมายอากาศสะอาดที่จะมาควบคุมฝุ่นควันและตอนนี้ยังไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นควันนี้ได้ เห็นได้ชัดเจนว่าเรานั้นได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ไม่เท่าเทียมกัน กลุ่มคนที่สามารถหาซื้อเครื่องฟอกอากาศ หรือหน้ากาก N95 มาได้ย่อมได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องฟอกอากาศได้หรือหน้ากากที่ราคาแสนแพงนี้ได้

ผมจึงต้องการที่จะอุดรูรั่วที่ทำให้เราหายใจได้ไม่เท่ากันนี้ และอยากให้ ทุกคนได้หายใจในอากาศบริสุทธิ์​ ผ่านแคมเปญนี้ที่ อยากจะชวนคุณมาแต่งภาพถ่ายของเพื่อน ๆ ผ่าน preset “CNXPM2.5” และนำเงินที่ได้จากการจ่ายเพื่อ preset ตัวนี้ไปซื้อหน้ากาก N95 เพื่อแจกจ่ายให้กับแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อที่จะทำให้เราได้หายใจในอากาศบริสุทธิ์ที่เท่า ๆ กันขึ้นมาอีกนิด

ตัวอย่างภาพที่ใช้ CNXPM2.5

สามารถใช้ preset ตัวนี้แล้ว tag #cnxpm25 และ #photoforair ใน instagram ได้เลย แล้วภาพจะถูกนำมา repost ในนี้

เปลี่ยนภาพของคุณผ่าน
#CNXPM2.5

จำนวนเงินที่ได้แล้ว

0

บาท

จำนวนหน้ากาก N95

0

ชิ้น