หมี่จ่า หม่าจ๊ะ: พลังงานทางเลือกของแรงงานชาติพันธุ์

“พูเฮ่อพู หมี่จ่า หม่าจ๊ะ”

(หมู่บ้านนี้ไม่มีไฟฟ้า) คือประโยคแรกที่”บู้หยะ” พูด เมื่อฉันถามถึงหมู่บ้านของเธอ


บู้หยะเป็นคนอาข่า ยี่สิบปีก่อนเธอและครอบครัวย้ายจากดอยสูงมารับจ้างทำไร่บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ เมื่อคนจากบนดอยลงมารับจ้างทำไร่มากขึ้น ผู้ใหญ่บ้านจึงจัดสรรพื้นที่ให้พวกเขาตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกัน เพื่อให้ง่ายต่อการดูแล



แม้หมู่บ้านแห่งนี้จะก่อตั้งมากว่ายี่สิบปี และห่างจากสำนักงานอบต.เพียงแค่ 2 กิโลเมตร แต่ความเป็นคนไร้สัญชาติ และที่ดินของหมู่บ้านที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้บู้หยะและคนในหมู่บ้านไม่สามารถขอใช้ไฟฟ้าได้ อบต. ช่วยเหลือได้เพียงติดตั้งไฟกิ่งพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนแสงสว่างและพลังงานในบ้าน เป็นหน้าที่ของคนในบ้านที่จะต้องดิ้นรนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น



“เพิ่งมีโซลาร์เซลล์ปีนี้ ลูกสาวที่ทำงานกรุงเทพส่งเงินมาให้ซื้อ บ้านที่เขามีเงินซื้อโซลาร์เซลล์แผงใหญ่ เขาก็มีไฟใช้เยอะ มีทีวีดู บ้านเราโซลาร์เซลล์แผงเล็กก็ใช้ได้แค่เปิดไฟหนึ่งดวงกับพัดลม  บางบ้านที่ไม่มีเงินซื้อแผงโซลาร์เซลล์ก็ต้องไปชาร์ตแบ็ตโทรศัพท์ที่หมู่บ้านข้างนอกเสียเงินห้าบาท ตอนกลางคืนก็ต้องจุดเทียนเอา”


“เห็นหมู่บ้านตรงนั้นไหม” บู้หยะชี้ให้ฉันดูหมู่บ้านท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่บนดอยไม่ไกลนัก


“หมู่บ้านนั้นมีไฟฟ้าใช้ เวลากลางคืนมองจากตรงนี้ จะเห็นเขาเปิดไฟสว่างเหมือนแสงดาวเลย…   ”