Yu Yu Myint Than | ช่างภาพชาวเมียนมา ผู้บอกเล่าเรื่องราวผ่านการแปลอารมณ์มาสู่ภาพถ่ายและผลักดันให้เกิดกลุ่มช่างภาพผู้หญิงกลุ่มแรกในเมียนมา
เราได้ยินชื่อของ Yu Yu Myint Than ครั้งแรกจากการประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Photography and Social Justice Fellowship ในปี 2018 จากโปรเจ็กต์ที่บอกเล่าเรื่องราวการค้ามนุษย์ของผู้หญิงชาว ไทใหญ่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมาไปยังประเทศจีน และนอกจากนั้นเธอยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มช่างภาพผู้หญิงกลุ่มแรกในประเทศเมียนมาอีกด้วย ถ้าในวงการภาพถ่ายของเมียนมาเราคงจะเรียกเธอได้ว่าเป็นหนึ่งใน “ตัวเป้ง” เราได้เห็นภาพถ่ายของเธอหลายชุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่กลับได้พบว่าเราไม่สามารถ “เข้าใจ” สิ่งที่เธอพยายามเล่าผ่านงาน ที่เธอเรียกว่าเป็นภาพสารคดีเหล่านั้นได้เลย จนเมื่อเราได้มีโอกาสพูดคุยกับเธอที่เมืองย่างกุ้งถึงทำให้เรา “เข้าใจ” แล้วว่าจะ “รู้สึก” กับภาพของเธอได้อย่างไร และนี่คือบทสนทนาที่เราได้แลกเปลี่ยนกับเธอ
เริ่มพกกล้องถ่ายรูปติดตัวเพราะถูกคุกคาม
การถ่ายภาพไม่ใช่งานแรกของฉัน ฉันเริ่มถ่ายภาพเพราะเกิดเหตุการณ์นึงตอนไปเรียนป.โทด้านบริหารการศึกษา (education management) ที่ฮ่องกงเมื่อปี 2009 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ฉันได้ไปต่างประเทศ ตอนอยู่ที่นั่นฉันไม่ค่อยมีความสุขกับการไปเรียนและก็ไม่อยากอยู่บ้านเพราะห้องพักมันเล็กมาก ๆ เลยชอบไปนั่งเล่นในสวนสาธารณะมากกว่าเพราะไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้ในเมียนมาด้วย (ที่เมียนมาในช่วงเวลานั้นการไปนั่งเล่นในสวนสาธารณะเป็นอะไรที่คนส่วนมากไม่ค่อยไปกัน จะมีแค่คนขายบริการทางเพศและคนที่ติดยาไป) ฉันชอบมองผู้คนในสวนสาธารณะและเวลาเห็นเพื่อนบ้านก็จะยิ้มทักทายให้ซึ่งเป็นเรื่องปกติในเมียนมาแต่ไม่ใช่ที่ฮ่องกง ฉันไม่รู้มาก่อน มีอยู่วันนึงฉันยิ้มให้คนที่ผ่านไปมาแล้วเขาคิดว่าฉันให้ท่าหรือเป็นหญิงขายบริการ เขาเลยยื่นกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ที่มีเบอร์ติดต่อมาให้ ตอนนั้นรู้สึกตกใจกลัวมากแล้วก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงกับผู้ชายคนนั้น หลังจากนั้นมาเลยเริ่มสะพายกล้องตัวเล็ก ๆ ติดตัวไปด้วยตลอดเวลาออกไปข้างนอกทำทีว่าเป็นนักท่องเที่ยว ฉันเริ่มถ่ายรูปผู้คนแล้วก็พวก abstract ต่าง ๆ ซึ่งมันสนุกและคลายเครียดได้ดี ตอนนั้นไม่ได้ถ่ายรูปจริงจังนะ แต่หลังจากนั้นก็จริงจังขึ้นเรื่อย ๆ อาศัยการไปเข้ากลุ่มเรียนรู้กับคนที่ถ่ายรูปในฮ่องกง เหมือนเป็นกลุ่มกิจกรรมอดิเรกอะไรทำนองนั้น
มีแต่ผู้ชายและภาพข่าว
ที่เมียนมาการถ่ายภาพเริ่มจะแข็งแกร่งมากขึ้นหลังเหตุการณ์ปฏิวัติชายจีวร(Saffron Revolution in 2007) ซึ่งก่อนหน้านั้นกองทัพกดขี่ควบคุมสื่อหนักมาก ไม่มีใครมีกล้อง DSLR แม้แต่นักข่าว พวกเขาจะใช้กล้องเล็ก ๆ บันทึกเหตุการณ์ความลับต่าง ๆ ซึ่งตอนนั้นมันทำได้ยากมาก
ตอนกลับมาที่เมียนมาใหม่ ๆ ฉันทำงานเป็น trainer การสอนให้ครูอาจารย์ แต่ก็ยังถ่ายรูปเล่นเป็นงานอดิเรกอยู่ บางทีก็รู้สึกอยากเล่าเรื่องอะไรบางอย่างแต่ไม่รู้จะเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายออกมายังไง ตอนนั้นไม่ค่อยมี workshop อะไรเลย จะมีแค่ workshop เดียวที่เกี่ยวกับภาพถ่ายในงาน Yangon Photo Festival แต่ก็ค่อนข้างจำกัดมากเพราะเขาไม่ได้สอนเกี่ยวกับการเล่าเรื่องเลย เขาแค่ให้คุณออกไปถ่ายรูปและวิจารณ์รูปภาพเหล่านั้น
หลังจากที่สนใจเล่าเรื่องมากขึ้นก็พยายามตามอ่านข่าวเกี่ยวกับภาพถ่ายและดูหนังสือภาพ และสิ่งที่ฉันทำต่อมาคือเริ่มทำงานเป็น fixer (ฟิกเซอร์ คือคนที่คอยอำนวยความสะดวกให้แก่นักข่าวต่างประเทศในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการติดต่อผู้ให้สัมภาษณ์ จัดการเรื่องการเดินทาง หรือในบางกรณีช่วยแปลภาษา) ให้ช่างภาพต่างชาติที่มาเมียนมา แม้ค่าจ้างฉันจะน้อยมากเมื่อเทียบกับคนอื่นแต่ก็โอเคนะเพราะฉันอยากพบช่างภาพเหล่านั้นและตราบใดที่สามารถเรียนรู้การถ่ายภาพจากพวกเขาได้
ในตอนนั้นฉันไม่รู้เรื่องอะไรเลยทั้งเทคนิค(photographic technique) การเล่าเรื่อง(storytelling) หรือพวก editing (การอีดิตภาพในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการแต่งภาพแต่หมายถึงการลำดับภาพเพื่อสนับสนุนเรื่องเล่า) ต่าง ๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นช่างภาพ
ช่างภาพส่วนใหญ่ที่เมียนมาในขณะนั้นคือช่างภาพข่าวและส่วนมากก็มีแต่ผู้ชาย ซึ่งฉันไม่มีคนรู้จักในวงการภาพถ่ายมาก่อน ไม่ได้มีเพื่อนช่างภาพหรือสถานที่ให้ hang out อินเทอร์เน็ตตอนนั้นก็ไม่ค่อยสะดวก สำหรับพวกเรามันลำบากมากที่จะเรียนรู้เมื่อเทียบกับที่ฮ่องกงที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายมาก และเมื่อไม่มีคอร์สมากนักช่างภาพส่วนใหญ่เลยต้องเรียนรู้กันเองจากการทำงานเป็น fixer หรือ hang out กับช่างภาพข่าวมากประสบการณ์ ทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่เราเรียนรู้
โรงเรียนภาพถ่ายในบังคลาเทศ เปลี่ยนทางชีวิตสู่การเป็นช่างภาพสารคดี
ตอนนั้นไม่มีคอร์สภาพถ่ายอะไรเลยในเมียนมา พอมี International Reportage Workshop (2014) ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยในออสโล ประเทศนอร์เวย์ กับ Pathshala South Asian Media Institute ประกาศรับฉันก็เลยลองสมัครดู แล้วก็เริ่มรู้จักแวดวงภาพถ่ายในเมียนมาและได้พูดคุยกับพวกช่างภาพมากขึ้น
โชคดีมากที่ฉันได้รับเลือกเพราะงานนั้นมีช่างภาพมืออาชีพมากมายมาสอนเป็น workshop 3 เดือนที่มีประโยชน์มากสำหรับช่างภาพในเวลานั้น เปิดโลกสุด ๆ เป็นอะไรที่ advance มาก นี่เป็น workshop แรกของพวกเราที่เมียนมา ยังจำได้เลยตอนนั้นเขาพูดเรื่อง editing กัน พวกเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า editing คืออะไร ฉันคิดว่าแค่เป็น post-process อย่างเช่นการปรับสี ปรับคอนทราส ฯลฯ แต่เขาสอนเกี่ยวกับการเล่าเรื่อง การเริ่มเรื่องต้องทำยังไง ภาพไหนดีพอจะกลบอีกภาพได้ อะไรทำนองนี้ ฉันรู้สึกแบบ ว้าวว นี่พวกเขากำลังพูดถึงอะไรกันอยู่ (หัวเราะ) ตอนนั้นพวกเราผลิตงานอะไรออกมาไม่ค่อยได้แต่พวกเราได้เรียนรู้อะไรเยอะมากจากพวกเขา
ฉันถ่ายโปรเจ็กต์แรกที่มิถิลา (Meiktila) ซึ่งเป็นที่ที่มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพุทธและมุสลิมในเมียนมา ฉันเลือกที่นี่เพราะฉันเคยไปสอนและตอนนั้นมันสงบมาก ตอนที่เกิดความขัดแย้งฉันแทบไม่เชื่อว่าเกิดขึ้นจริงเลยอยากรู้ว่าเบื้องหลังความขัดแย้งนั้นคืออะไรและอยากแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของพวกเขา ฉันเลยใช้เวลา 3 เดือนทำโปรเจ็กต์ที่นั่น มันเป็นพื้นที่ที่อ่อนไหวมาก มีตำรวจตามฉันตลอด ฉันไม่เคยมีประสบการณ์แบบนั้นมาก่อน รู้สึกกลัวมากแบบเค้าจะยึดบัตรประชาชนฉันไหมอะไรแบบนั้น นี่เป็นเหตุการณ์ที่กดดันมาก พวกเขาพยายามจะห้ามแต่ยิ่งพวกเขาห้ามเท่าไหร่ฉันก็ยิ่งอยากถ่ายรูปให้ได้ ฉันไม่เคยรู้สึกกระหายอยากทำงานแบบนี้กับงานที่เคยทำมาก่อนเลยนะ (หัวเราะ) ฉันเลยตระหนักว่านี่แหละคือสิ่งที่ฉันอยากเป็น ในเมียนมาเราไม่มีโรงเรียนหรือวิชาศิลปะ เราไม่ได้เรียนวาดภาพ ดนตรี อะไรพวกนี้ เราไม่รู้ว่าเราชอบหรือสนใจอะไร ฉันคิดว่าคนรุ่นฉันส่วนใหญ่จะรู้ว่าชอบอะไร สนใจอะไร ก็ตอนที่พวกเราโตแล้ว เทียบกับประเทศอื่นพวกเขารู้ตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก ๆ แม้ว่าเรื่องไม่ได้ออกมาอย่างที่อยากเล่าเท่าไหร่แต่การที่ได้พยายามทำความรู้จัก พูดคุย และถ่ายรูป มันเป็นการฝึกฝนที่ดีมาก นี่เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฉันอยากเป็นช่างภาพสารคดี (document photographer) มากกว่าช่างภาพข่าว (photojournalist)
งานส่วนตัวกับงานที่เล่าเรื่องคนอื่น
ฉันจะถ่ายภาพอยู่ 2 แบบ อย่างแรกฉันถ่ายเรื่องตัวเอง อีกแบบฉันถ่ายเรื่องของคนอื่น เพราะฉันสนใจและฉันอยากจะเข้าใจเรื่องเหล่านั้น ซึ่งบางครั้งคนอาจสนใจเรื่องอื่นมากกว่าเรื่องของตัวฉันเอง ในเว็บไซต์ฉันก็เลยแบ่งมันแยกออกจากกันเป็นสองส่วน งานที่เป็นเรื่องของคนอื่นจะเหมือนเป็นเรื่องที่ฉันถ่ายทอดเรื่องราวผ่านอารมณ์ความรู้สึกจากพวกเขา แต่งานส่วนตัวมันเป็นตัวฉันมากกว่า อย่างเรื่องเช่นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับคนรักเก่าในงาน Latters to Love หรือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับพ่อ ซึ่งหลัง ๆ มางานของฉันค่อนข้างจะเป็นเรื่องส่วนตัวมากขึ้น เริ่มรู้สึกว่าชอบถ่ายอะไรที่เชื่อมโยงกับตัวเองมากกว่า อย่างเรื่อง Memory Lane ที่บอกเล่าเรื่องของเด็กสาวคนหนึ่งที่ถูกค้ามนุษย์ ถ่ายเมื่อปี 2015-2016 ฉันสนใจเรื่องนี้นะ ฉันเข้าใจสถานการณ์ได้ รู้สึกเห็นใจได้ แต่เชื่อมกับความรู้สึกส่วนตัวไม่ค่อยได้ ซึ่งฉันจะไม่ค่อยอยากทำถ้าไม่ได้มาจากข้างใน
นักเล่าอารมณ์ความรู้สึก
เริ่มแรกฉันถูกแนะนำการถ่ายภาพด้วยรูปแบบของการรายงานข่าว (reportage) ฉันไม่รู้วิธีการนำเสนอในรูปแบบอื่น ๆ งานแรกเลยมีความเป็นข่าวสูงมาก เล่าเรื่องตรงไปตรงมา ซึ่งงานแรก ๆ จะแสดงให้เห็นว่านี่คืออะไร แต่เมื่อฉันสนใจการเล่าเรื่องมากขึ้นเรียนรู้มากขึ้นหลัง ๆ มางานเลยแสดงให้เห็นว่ารู้สึกอย่างไรมากกกว่า
สำหรับฉัน มันง่ายที่จะเห็นว่าสิ่งนี้คืออะไรหรือเป็นยังไง แต่มันยากนะที่จะมองให้เห็นว่ารู้สึกยังไง อย่างเช่นในภาพถ่ายสงคราม เราเห็นภาพเราจะรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น แต่สำหรับผลกระทบเราอาจไม่รู้ ถ้าเทียบภาพที่บอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับบอกว่ารู้สึกอย่างไร ฉันว่าฉันเชื่อมโยงกับภาพที่บอกอารมณ์ความรู้สึกได้มากกว่า ฉันเลยอยากเป็นช่างภาพที่ถ่ายภาพแบบนั้น
แต่บางทีก็คนก็ตั้งคำถามนะ เพราะงานที่ฉันทำคือใช้อารมณ์ตัวเองแปลลงไปเป็นภาพถ่าย เป็นสิ่งที่ฉันรู้สึกแบบนั้นจากกการได้ยินได้ฟังเรื่องราวมาซึ่งบางทีคนอื่นอาจไม่ได้รู้สึกแบบเดียวกันก็ได้ บางงานฉันเลยไม่ได้เรียกว่า photojournalist เพราะฉันแปลอารมณ์ตัวเองลงไปด้วย ซึ่งฉันไม่อยากแปะป้ายว่าตัวเองเป็นนักข่าวหรืออะไร แค่เป็นตัวเองที่อยากเล่าเรื่อง บางเรื่องอาจมีพลังถ้าเล่าในรูปแบบข่าว บางเรื่องอาจมีพลังมากกว่าถ้าเล่าแบบนิยาย
และเรามักจะพูดถึงสาร (message) กับงานศิลปะกันเสมอ แต่ฉันคิดว่าศิลปะไม่มีสารอะไรให้นะ เวลาที่เรามองภาพถ่ายเดียวกันเราตีความต่างกันอยู่แล้ว มันขึ้นอยู่กับผู้ชมว่ามีประสบการณ์ยังไงก็จะตีความต่างไปตามประสบการณ์ของตัวเอง ฉันเลยไม่เชื่อว่าฉันส่งสารไปถึงผู้ชม อย่างงานที่ถ่ายเกี่ยวกับพ่อ ไม่ค่อยมีคนชื่นชอบเท่าไหร่แต่มีเด็กคนนึงเขียนโน้ตไว้ให้ฉันว่าเธอจะกลับมายอมรับตัวพ่อของเธออีกครั้ง ฉันคิดว่าอันนี้มันทรงพลังมาก บางงานอาจไม่สร้างพลังเลย แต่บางงานก็สร้างพลังได้มหาศาลกับคนที่สามารถเชื่อมโยงกับตัวเองได้
อย่างช่วงแรก ๆ ฉันเริ่มถ่ายเกี่ยวกับเรื่องค้ามนุษย์ แต่ตอนนี้ไม่ชอบอีกแล้วเพราะฉันคิดว่ามันไม่ใช่ฉัน ตอนนี้ชอบเรื่องของความทรงจำ ความฝัน ฯลฯ มากกว่า เช่นในงาน Memory Lane หรือ Jigsaw ที่เล่าเรื่องความแปลกแยกในสังคมของกลุ่มคนย้ายถิ่น
อย่างเรื่อง Memory Lane เล่าเรื่องเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงที่ถูกขายไปทำงานในบ้านหลังนึง เธอถูกเจ้าของบ้านทำร้ายร่างกาย เรื่องของเด็กคนนั้นเป็นกลายเป็นข่าวใหญ่ (อ่านเพิ่มเติม) ฉันเลยได้รู้เรื่องราวจากข่าวต่าง ๆ แล้วก็จากเพื่อนนักข่าวที่ได้ไปช่วยเหลือเด็กคนนั้น เรื่องราวของเธอทำให้ฉันนึกถึงตอนเป็นเด็ก จินตนาการภาพตัวเองที่เคยถูกมัดไว้ในบ้านตอนกลางคืน ฉันเลยตัดสินใจว่าฉันควรจะต้องไปพบเด็กคนนั้น ตอนแรกฉันคิดจะถ่ายภาพพัฒนาการหลังจากที่เธอถูกช่วยเหลือเหมือนกันนะ แต่เพราะไม่สามารถถ่ายภาพในโรงพยาบาลรัฐได้และเวลาที่ไปหาเธอแต่ละครั้งส่วนมากฉันจะเป็นผู้ฟังเธอเล่าเรื่องต่าง ๆ มากมาย ฉันคิดว่าเธอคงเบื่อ ไม่มีเพื่อน เธอพูดกับฉันไม่หยุดเลย ทั้งเล่าเรื่องตอนเด็ก เรื่องผี เรื่องในหมู่บ้าน ฯลฯ เราแลกเบอร์กันและคุยโทรศัพท์กันเป็นชั่วโมงๆ ทั้งที่ปกติฉันไม่ใช่คนคุยนาน ฉันเห็นได้ชัดว่าเธอคิดถึงบ้าน ฉันเลยคิดว่าแทนที่จะถ่ายภาพบาดแผล ประสบการณ์เลวร้ายอะไรพวกนั้น ซึ่งเธอก็ไม่อยากเห็นภาพเหล่านั้นด้วย ฉันก็เลยเลือกถ่ายความทรงจำความรู้สึกคิดถึงบ้านแทน
Myanmar Deitta สเปซเพื่อภาพถ่ายแห่งเดียวในเมียนมากับความพยายามผลักดันและขับเคลื่อนการเล่าเรื่องด้วยภาพ
ฉันไม่ได้เป็นคนแรกที่ก่อตั้ง Myanmar Deitta นะ ตอนนั้น Myanmar Deitta เป็นแกลอรี่และอาร์ตสเปซ หลังจากที่ได้ workshop กับ Pathshala และเป็นส่วนหนึ่งของวงการภาพถ่ายมากขึ้นก็เริ่มมา Myanmar Deitta บ่อยมากขึ้น เพราะที่นี่เป็นแกลอรี่สำหรับภาพถ่ายเพียงแห่งเดียวในเมียนมาตอนนั้น
ฉันตัดสินใจลาออกจากการเป็น teacher training และคิดว่าต้องสร้าง profile ดี ๆ เลยไปสมัครทำงานที่ The Myanmar Times เป็นนักข่าวเต็มตัวอยู่ 11 เดือน แต่ตัดสินใจลาออกเพราะฉันรู้สึกว่าอยากเล่าเรื่องออกมาเป็นชุดมากกว่าจะเป็นแบบภาพข่าวรายวัน มีอยู่ครั้งนึงต้องไปถ่ายงาน ฉันรู้สึกอยากพูดคุยกับคนให้สัมภาษณ์มากกว่านี้อีก อยากขุดให้ลึกกว่านี้อยากถ่ายภาพเพิ่มแต่ทำไม่ได้
ฉันได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนผู้ก่อตั้ง Myanmar Deitta ว่าทำงานที่ The Myanmar Times ไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง รู้สึกว่าไม่ค่อยได้ถ่ายภาพที่เป็นเรื่องยาว ๆ เลย เขาเลยชวนมาร่วมงานที่ Myanmar Deitta ซึ่งฉันก็ว่าโอเค แต่ก็ตกลงกันนะว่าจะต้องให้เวลาเธอออกไปถ่ายรูปด้วย
เราช่วยกันสร้างพื้นที่นี้ด้วยกัน เขาถนัดด้านแกลอรี่ ส่วนฉันถนัดด้านการ training ฉันเรียนรู้งานด้านภัณฑารักษ์(curating) จากเขาอยู่ 2 ปี หลังจากนั้นเราก็แบ่งหน้าที่รับผิดชอบกัน เขาจะดูแลด้านแกลอรี่เป็นหลัก ส่วนฉันดูเรื่องการศึกษา แล้วเราก็พยายามพัฒนาห้องสมุดและคอร์สสอนเกี่ยวกับเรื่องการถ่ายภาพ เราเริ่มจากการจัด workshop ถ่ายภาพพื้นฐานและพื้นที่แห่งนี้ก็กลายเป็นพื้นที่ให้ความรู้เรื่องภาพถ่ายมากขึ้น ๆ
สู่กลุ่มช่างภาพ Thuma Collective กลุ่มภาพถ่ายผู้หญิงกลุ่มแรกและกลุ่มเดียวในประเทศเมียนมา
ฉันเคยเป็นลูกศิษย์ของ Sim Chiyin (เป็นช่างภาพ Magnum ชาวสิงคโปร์) เธอเป็นครูตอนที่ไป Angkor Workshop ฉันเคยเล่าถึงเรื่องที่ทำและเธอก็สนใจที่จะมาจัด workshop ให้ช่างภาพผู้หญิงที่เมียนมา เธอให้ฉันช่วยรวบรวมผลงานของช่างภาพหญิงเมียนมา ในตอน (ประมาณปี 2016) ฉันพยายามมองหา portfolio ดี ๆ แต่แทบไม่มีเลย ทั้ง ๆ ที่เธออยากมาทำ workshop ให้พวกเราฟรี ๆ แต่เราไม่มีศักยภาพพอ วงการช่างภาพที่นี่ส่วนมากจะมีแต่ผู้ชาย ผู้หญิงจะไม่ค่อยมีประสบการณ์ เวลามี workshop ก็จะมีแต่ผู้ชายสมัครมา สถานการณ์มักเป็นแบบนี้ตลอด ฉันเลยเริ่มคิดว่าควรจะต้องมีช่างภาพผู้หญิงหรือกลุ่มช่างภาพผู้หญิงมากขึ้น เลยตั้งกลุ่มเล็ก ๆ ให้ช่างภาพผู้หญิงมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันทุกเดือนโดยใช้พื้นที่ของ Myanmar Deitta นี่แหละ โดยเริ่มจากคุยกันเรื่องสนุก ๆ เรื่องง่าย ๆ ทั่วไปเกี่ยวกับภาพถ่าย
ในปี 2017 เพื่อนบอกว่ามีองค์กรต่างชาติมาจัด workshop ที่เมียนมา จะมีช่างภาพจาก Magnum มาด้วย ฉันรู้จักคนก่อตั้งองค์กรนั้นเลยเล่าให้ฟังว่าเริ่มตั้ง club ช่างภาพผู้หญิง เขาก็สนใจที่จะมา workshop ให้ เราเลยร่วมกันจัด storytelling workshop ให้ช่างภาพผู้หญิงขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจบ workshop นั้นก็ได้รู้จักกับช่างภาพหญิงอีก 8 คน เราคิดว่าไหน ๆ เราก็มีเป้าหมายและความหลงใหลในแบบเดียวกันแล้วเลยชวนกันมาตั้งเป็นกลุ่ม
เราใช้เวลาทดลองโปรเจ็กต์นี้ด้วยกันอยู่ 3 เดือน เพราะเราอยากเห็นการเล่าเรื่องแบบเป็นชุด ไม่ใช่ภาพสองภาพแบบงานข่าว เราให้เวลาทำงานกัน 3 เดือน และภายใน 3 เดือนนี้เราต้องถ่ายงานมาเรื่องนึง ถ้าไม่ทำ ไม่พยายาม คุณก็ต้องออกจากกลุ่มเราไปเลย (หัวเราะพร้อมขอโทษ) เพราะเราไม่มีชนชั้นหรือมีใครมาควบคุม ไม่มีใครมามอบหมายงานให้เรา ไม่มีคนมาให้คำปรึกษา เราต้องให้งานตัวเอง มารีวิวกันเอง พวกเราเลยต้องตั้งกฎกติกากันก่อน เช่นพวกพันธกิจ วิสัยทัศน์ เป้าหมาย เราจะทำเป้าหมายให้สำเร็จได้ยังไง อะไรพวกนี้ กฎของเราก็จะประมาณว่าทุกเดือนเราจะมารีวิวเรื่องด้วยกัน เราต้องมีภาพใหม่ หรือมีพัฒนาการของเรื่องราวมาพูดกัน พวกเราไม่ได้ทำเรื่องยากหรือใหญ่โตอะไร เราเริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ และถ้าเราไม่สามารถบริหารจัดการทำให้จบได้ภายใน 3 เดือน ไม่มีพลัง ไม่พยายาม ดังนั้นคุณก็คงไม่ใช่ส่วนเดียวกับเรา
แล้วเราก็มีกฎว่าทุกปีเราจะต้องมีผลงานใหญ่ 1 ชุด เราจะทำให้สาธารณะเห็นให้ได้ว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ เพราะที่นี่ยังมองว่าผู้หญิงถ่ายภาพเป็นกิจกรรมยามว่างไม่ใช่อาชีพ ฉันต้องการให้กลุ่มเรามีความเป็นมืออาชีพ เราเลยต้องมีกฎกติกา และเพราะฉันเคยไปร่วม workshop ต่างประเทศอย่าง Angkor และ Magnum ฉันเลยพอรู้จักกับช่างภาพอยู่บ้าง เวลาที่ฉันไปเจอพวกเขาก็จะขอให้พวกเขาช่วยรีวิว portfolio กลุ่มพวกเรา นี่เป็นวิธีที่เราเริ่มตั้งกลุ่มกัน
1 ปีผ่านไปเราก็ได้งานที่กลายมาเป็นหนังสือภาพชื่อ Us and Beyond และตอนนี้เราก็ทำโปรเจ็กต์ที่ 2 สำหรับปีที่ 2 ไปแล้วใน Bridging the Naf ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างช่างภาพหญิงจากบังคลาเทศและเมียนมา
อุปสรรคการเติบโตของภาพถ่ายที่หลากหลายแบบในเมียนมา
จริง ๆ วงการภาพถ่ายในเมียนมาก็ดูเติบโตขึ้นนะ แต่ปัญหาอย่างนึงคือที่นี่ได้รับอิทธิพลจาก photojournalist สูงมาก ดังนั้นผู้ชมและสัมคมจะไม่ชื่นชมงานอื่นที่ไม่ใช่ photojournalist บางครั้งที่เราจัดพูดคุยเรื่องภาพถ่ายร่วมสมัย เช่น visual art สำหรับพวกเขาอาจมองว่ามันไร้สาระ หรืออย่างงาน Memory Lane ของฉัน สังคมภาพถ่ายที่นี่ก็วิจารณ์ว่าแทนที่จะถ่ายออกมาในรูปแบบข่าวแต่ฉันดันไปโฟกัสสไตล์ของตัวเองมากไป หรืออย่างที่ Thuma Collective ให้ความสำคัญกับภาษาภาพ (visual language) แต่คนอื่นมองว่าเราโฟกัสกับ visual เกินไป เราควรเล่าเรื่องราวให้จริงจังกว่านี้ ทำไมเราถึงถ่ายพวกความทรงจำอะไรทำนองนี้ แต่ concept ของฉันคือเราสามารถเล่าเรื่องออกมาในรูปแบบที่แตกต่างได้ เราไม่จำเป็นต้องจำกัดภาษาของการเล่าเรื่อง
อีกเหตุผลนึงอาจเป็นเพราะขาดการสร้างแรงบันดาลใจให้กัน พวกเราพยายามให้คนที่นี่มีส่วนร่วมมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นช่างภาพข่าวแต่คุณก็สามารถเรียนรู้บางอย่างจาก fine art, performance art หรือศิลปะรูปแบบอื่น ๆ ได้ แม้ว่าฉันไม่ใช่ช่างภาพข่าวจ๋าขนาดนั้น ฉันก็เรียนรู้บางอย่างจากมันได้เหมือนกัน นี่จึงสำคัญมากที่เราต้องแนะนำภาพถ่ายแบบต่างๆ มากขึ้น เช่น contemporary อย่างห้องสมุดที่ Myanmar Deitta ก็เป็นเพียงห้องสมุดหนังสือภาพแห่งเดียวในเมียนมา เราพยายามจัด workshop เพิ่ม ฉันพยายามคิดว่าจะทำยังไงให้มันน่าสนใจขึ้นสำหรับช่างภาพที่นี่ ระบบการศึกษาที่นี่ค่อนข้างปิดกั้น เรายังมีจุดอ่อนเรื่องการเรียนรู้ด้วยตัวเอง อย่างคนใกล้ตัวคุณแนะนำอะไรบางอย่างคุณก็มีแนวโน้มสนใจทำสิ่งที่คนอื่นบอกซึ่งสังคมภาพถ่ายที่นี่ค่อนข้างจะเป็นแบบนั้น
การยืนหยัดขององค์กรไม่แสวงผลกำไร
Myanmar Deitta เมื่อ 5 ปีก่อนก็ลำบากมากเลยนะ เราเริ่มกันมา 2 คนและจ่ายเงินเดือนให้ตัวเองน้อยมาก ๆ เพราะเราไม่มีกำไร เราจัด workshop ให้ฟรีแต่คนที่นี่ก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ หลังๆ มาเราก็มีการให้ทุนและจัด workshop แบบเสียเงินด้วย นอกจากนี้เราก็มีบริการรับจัดนิทรรศการ เช่น สถานทูตหรือ NGO อยากจัดนิทรรศการก็จะมาจ้างเราเป็น curator แล้วก็มีรายได้จากพวกโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ที่ NGO จ้างทำ เราก็รับมาและจ้างช่างภาพท้องถิ่นต่อ นี่เป็นวิธีที่เราจ่ายค่าจ้างให้ตัวเองและกระจายงานให้ช่างภาพท้องถิ่นมากขึ้น
ส่วน Thuma Collective ค่อนข้างอยู่ยากนะ จริง ๆ พวกกเราเหมือนเป็นช่างภาพแต่เราสามารถทำงานอื่นได้ อย่างบางคนเป็นนักวิจัย บางคนทำงานสถาปัตย์ เราอาจเป็นแม่ดูแลลูก เป็นแม่บ้าน เป็นอะไรก็ได้ แต่เรายังคงถ่ายภาพ เราหารายได้จากการถ่ายภาพด้วยการรับจัด workshop หรือ training ให้กับ NGO พวกเราดำเนินการกันเองและกำลังมองหา crowd funding ด้วย เป้าหมายของพวกเราคือเล่าเรื่องด้วยภาพผ่านสายตาของผู้หญิงเพื่อสนับสนุนเสียงของผู้หญิงจากตัวแทนผู้หญิงด้วยกันเอง
อนาคตที่อยากเห็น
ฉันอยากเห็น Myanmar Deitta เป็น art hub ของภาพถ่ายในเมียนมา แล้วก็อยากให้ช่างภาพท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากขึ้น อย่างที่นี่มีหนังสือภาพก็อยากให้คนสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับภาพถ่ายมาใช้พื้นที่นี้มากขึ้น อีกอย่างเพราะเราไม่มีทุน บางคอร์สจำเป็นต้องจัดเป็นภาษาอังกฤษเพราะให้ช่างภาพต่างชาติมาช่วยสอน บางทีภาษาก็เป็นอุปสรรค เราเลยอยากมีคอร์สภาษาอังกฤษเบื้องต้นสำหรับช่างภาพด้วย ฉันไม่อยากให้ภาษามาขัดขวางการทำงานของทุกคน อย่างการเขียนใบสมัคร หรือเขียนขอทุนต่าง ๆ ซึ่งคุณไม่ต้องเก่งภาษาอังกฤษมากก็ได้เพราะภาษาเป็นเพียงแค่ส่วนนึงของทักษะ การถ่ายภาพมันอยู่ที่การมองมากกว่า
กับ Thuma Collective พวกเราอยากให้กลุ่มเราเติบโตขึ้นทั้งในเมียนมาเองและระดับภูมิภาค อยากรับสมาชิกเพิ่ม แล้วก็อยากทำเทศกาลภาพถ่ายที่ดำเนินการโดยคนท้องถิ่นเอง อยากมีนิตยสารภาพถ่ายรายปี ถ้าพวกเรามีพลังและทักษะความสามารถมากขึ้นเราก็จะเริ่มทำ
ภาษาภาพถ่ายที่หลากหลาย
ฉันอยากทำเทศกาลภาพถ่ายที่แยกออกมาจาก Yangon Photo Festival (YPF) เพราะเราคิดว่า YPF เป็นเหมือนงานของ NGO มากกว่า ถ้าได้ไปงานที่บังคลาเทศหรือในยุโรปซึ่งไม่ใช่งานใหญ่หรืออาจเป็นงานในภูมิภาค บรรยากาศภาพถ่ายจะหลากหลายมาก แต่งานที่นี่ค่อนข้างจะโฟกัสไปที่เรื่องเล่าหรือโปรเจ็กต์ที่ NGO ทำ สำหรับฉันมันค่อนข้างน่าเบื่อ มันไม่ค่อยเหมือนเทศกาลภาพถ่ายสักเท่าไหร่มันเหมือนเทศกาลของ NGO มากกว่า
อย่างเทศกาลภาพถ่ายที่ฉันชอบที่เคยไปร่วมมาภาพถ่ายมันมีรูปแบบที่หลากหลายมาก คนท้องถิ่นบริหารจัดงานกันเอง คือฉันไม่ได้ต่อต้านการมีส่วนร่วมของต่างชาตินะ แค่อยากให้คนท้องถิ่นได้มีความเป็นเจ้าของงาน ได้มีส่วนจัดนิทรรศการของตัวเอง นี่ก็เป็นรูปแบบใหม่ของช่างภาพเหมือนกัน อย่างเวลามีงานถ้าไม่มี curator ต่างชาติมาช่วย เราจะติดตั้งงาน จะเริ่มจัดนิทรรศการของตัวเองได้ยังไง ฉันเลยอยากจัดงานแบบนั้น ไม่ต้องเป็นถึงเทศกาลก็ได้ อาจจะเรียกว่า photo walk อะไรแบบนั้น ที่มีภาษาทางภาพถ่ายที่หลากหลาย
ฉันรู้สึกว่ามันอันตรายนะถ้าเราเชิดชูและชื่นชมแค่ภาพถ่ายประเภทเดียวเพราะคนจะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพียงแบบเดียว อย่างการที่คนใช้แฟลชถ่ายภาพ ช่างภาพข่าวที่นี่จะบอกประมาณว่า เฮ้ย ไม่ได้นะ มันผิด บางครั้งพวกเขาก็จะบอกว่าการถ่ายภาพแบบปกปิดอัตลักษณ์ก็ทำไม่ได้ (ทำท่าทางเห็นแค่บางส่วนของใบหน้า) แต่สำหรับเรื่องราวของเหยื่อข่มขืน คุณควรจะเล่ามันออกมาอีกแบบ มันเลยอันตรายมากๆ ถ้าเราจะรับรู้อะไรแค่แบบเดียว
Myanmar Deitta และ Thuma Collective จะจัด workshop ในเดือนเมษายนสำหรับช่างภาพผู้หญิงเมียนมาและในส่วนหนึ่งของ workshop จะมีสอนทำหนังสือภาพโดยผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นซึ่งเปิดให้คนนอกเข้าร่วมได้ ใครสนใจสามารถติดตามได้ใน http://www.deitta.org และ https://www.facebook.com/thumacollective