Along the way ‘Article 112’

ถนน 112 ของ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์

โดย ปฏิภัทร จันทร์ทอง

“เลี้ยวซ้ายเข้ามาในซอย 112 เมตร บ้านผมอยู่ตรงนั้น” 

สมอลล์-บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ชายวัย 80 ปี ผู้โดนคดีม.112 จำนวน 4 คดีเอ่ยปากบอกตำแหน่งที่พักของเขา

เสื้อสีดำสกรีนข้อความ ‘ความเป็นธรรมย่อมอยู่เหนือทุกสถาบัน’ ถูกแขวนไว้บนผนังสีครีม นวนิยาย The White Rose ถูกวางไว้ที่มุมโต๊ะใกล้กับพิมพ์ดีดเครื่องเก่า กองหนังสือ ถุงผ้า วางระเกะระกะภายในห้องเช่าเล็กๆ ของสมอลล์-บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ 

ประเทศนี้มีผู้ที่เป็น ‘บิ๊ก’ อยู่แล้วนับไม่ถ้วน ชื่อ ‘สมอลล์’ จึงถูกตั้งขึ้นมา

เมื่อ 80 ปีก่อน ‘จือเซ้ง แซ่โคว้’ คือชื่อโดยทางการของ ‘ลุงบัณฑิต’

เด็กชายตัวเล็กจากเมืองจีนผู้อพยพหลบหนีความยากลำบากมายังประเทศไทยพร้อมกับแม่ของเขาในวัย 6 ขวบ 

จากตอนใต้ของจีนสู่จังหวัดนครราชสีมาเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า เขาพบกับพ่อซึ่งย้ายมาอยู่ก่อนและพบว่าพ่อของเขามีภรรยาอีกคน ภาพพ่อทุบตีแม่เป็นภาพจำฝังใจ แม่ของเขาถูกทำร้ายจนท้ายที่สุดต้องถูกส่งตัวไปรักษาอาการทางจิตและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอย่างไร้ญาติขาดมิตร

ลุงบัณฑิตตัดสินใจหนีออกจากบ้านในวัย 15 ปี และบวชเรียนจำวัดอยู่หลายที่ก่อนมาปักหลักอยู่ที่วัดมหาธาตุ สถานที่ซึ่งควรเป็นพื้นที่ทางศาสนา บ่มเพาะบุคลากรทางศีลธรรม กลับทำให้เขาตั้งคำถามเรื่องการกดทับและบ่มเพาะขยายขอบเขตความสนใจทางการเมืองของเขา

ระหว่างเป็นสามเณรลุงบัณฑิตเคยเขียนหนังสือประทับตราดาวแดงถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เล่าเรื่องความทุกข์ยากและจุดมุ่งหมายในชีวิต เป็นเหตุการณ์แรกที่ทำให้เขาถูกตำรวจสันติบาลสอบสวนก่อนจะปล่อยตัวเพราะเห็นว่ายังคงเป็นสามเณร

ปี พ.ศ. 2518 ลุงบัณฑิตถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวอีกครั้งในคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เมื่อกว่า 46 ปีก่อนจากการทำหนังสือดาวแดงในวันที่ยังไม่มีใครรู้จักประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มากนัก

“ผมทำหนังสือดาวแดง หน้าปกผมเขียนว่าจักรพัตร์ปีศาจสามแสนล้านเสวยเพชร พลอย และเมล็ดทองคำเป็นอาหาร ส่วนประชาชนต้องกินน้ำเลือดน้ำหนองของแผ่นดิน”

หนังสือเล่มเดียวมีอำนาจทำให้ลุงบัณฑิตถูกฟ้องกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันฯทั้งเล่ม และโดนเก็บเรียบทุกเล่มหลังวางขายได้แค่ 2 วัน

“อธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้นเขาเรียกผมไปชี้แจง ผมชี้แจงได้หมดเอาผิดผมไม่ได้ เลยส่งผมเข้าโรงพยาบาล เขาก็ลงความเห็นว่าผมเป็นโรคจิต”

ลุงบัณฑิตแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง เขามักใช้เวลาในหอสมุดอ่านและแปลหนังสือภาษาอังกฤษ ภาพความทุกข์และการถูกเอารัดเอาเปรียบแปรเปลี่ยนเป็นงานเขียนและงานแปลกว่า 20 เล่ม งานเขียนของเขาเป็นงานแนวเสียดสีสังคมที่มักพูดเรื่องความเท่าเทียม สะท้อนเรื่องราวความไม่เป็นธรรม ผู้ที่ติดตามผลงานของลุงบัณฑิตแสดงความเห็นว่า 

“สำหรับเขา การเขียน การแปลหนังสือไม่ใช่เพียงการเขียนและแปลหนังสือ แต่ยังเป็นการต่อสู้กับความ
อยุติธรรมด้วยเช่นกัน”

ลุงบัณฑิตยังคงเขียนหนังสือและเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เขามักพกหนังสือของเขาไปขาย รวมถึงเสื้อและกระเป๋าผ้าซึ่งสกรีนข้อความบอกเล่าข้อเรียกร้องทางการเมือง

ตลอดระยะเวลาการต่อสู้คดี 112 ลุงบัณฑิตต้องเดินทางไปขึ้นศาลหลายครั้งแม้ว่าสภาพร่างกายจะไม่สมบูรณ์ มีอาการเหนื่อยง่ายจากโรคภูมิแพ้และความดันโลหิตสูง ขณะเดียวกันก็ต้องต่อสายปัสสาวะอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากไตและกระเพาะปัสสาวะถูกตัดทิ้งเพราะเป็นมะเร็ง

ปลายปีพ.ศ. 2547 เขาถูกจับกุมอีกครั้งและถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 98 วัน

“เข้าคุกมันทรมาน ผู้คุมจะกระทืบผม ด่าว่าผมดูหมิ่นกษัตริย์ ผมก็ต้องยอมคุกเข่าลงยกมือไหว้มัน ปล่อยให้มันด่าจนมันพอใจมันก็หยุดด่า ถ้าผมไปเถียงมันผมก็โดนกระทืบฟรีเจ็บตัวฟรี อยู่ในนั้นมันก็ถือว่ามันทำถูก”

“ญุคฑาสสิ้นสุดลงแล้ว

จงอญ่าเอาวัฒนธรรมฑาสมาใช้กับราษฏรไฑญในญุคปัจจุบัน”

ลุงบัณฑิตโพสข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวหนึ่งวันก่อนศาลตัดสินคดีม.112 คดีที่ 4 ของเขา

‘ย’ ถูกใช้แทนที่ด้วย ‘ญ’

‘ท’ ถูกใช้แทนที่ด้วย ‘ฑ’

นักเขียนอาวุโสใช้ภาษาสัญลักษณ์ด้วยเหตุผลว่า ‘ย’ อยู่เหนือกฎหมาย สูบเลือดคนไทย และ ‘ท’ ทหารดุร้าย เป็นสมุนรับใช้ยักษ์

26 มกราคม 2564 ศาลยกฟ้องสมอลล์-บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ นักเขียนนักแปล วัย 80 ปี ผู้เปล่งวาจา

“คุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ใต้เท้าของใครบางคน” 

ในห้องพักของนักเขียนสูงวัย นวนิยาย The White Rose บทประพันธ์ของ B. Traven ว่าด้วยเจ้าของบ่อน้ำมันผู้เอารัดเอาเปรียบชาวนาซึ่งแปลค้างไว้ครึ่งเล่มได้รับการแปลอีกครั้งโดย สมอลล์-บัณฑิต อาร์ณีญาญ์

เครื่องพิมพ์ดีดเครื่องเก่ายังคงใช้งานได้ดี และทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์