อาสาสมัครในฐานะพื้นที่คลายเครียดจากการกักตัวในเช้าตรู่ของวันศุกร์
โมโมเอ เจซี แม่บ้านชาวพม่าออกเดินทางมาจากบ้านแถวกาดก้อม เพื่อมายังบริเวณตัวเมืองเก่าของของเชียงใหม่ แต่ไม่ใช่เพราะว่าต้องรีบเข้างานให้ทันเหมือนอย่างเคย ครั้งนี้เธอมาเพื่อที่จะได้ร่วมทำอาหารสำหรับการแจกจ่ายแก่ผู้คนที่ได้ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ลากยาวมากว่า 2 เดือนแล้ว
โมโมเอ ในวัย 34 ปีเป็นหนึ่งในแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการหยุดตัวของภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในเชียงใหม่ “เจ๊เขาให้หยุดมา 2 เดือนแล้ว เขาทำความสะอาดเองหมด เพราะไม่ค่อยมีลูกค้ามาเที่ยวแล้ว” โมโมเอ เล่าถึงงานทำความสะอาด hostel ที่ทำอยู่เป็นประจำก่อนจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
โมโมเอ อยู่อาศัยในประเทศไทยตั้งแต่อายุ 17 ปีเพราะต้องการแสวงหาอนาคตใหม่ ๆ ในประเทศไทย ที่ในขณะนั้นเธอมองว่าหาไม่ได้ในเมืองมิตจินารัฐคะฉิ่นบ้านเกิด แม้จะผ่านหลากหลายฤดูกาลในประเทศไทย เธอก็ยังมองว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ลำบากที่สุดอาจจะเป็นเพราะว่าไม่ได้มีเพียงเธอแค่คนเดียวอีกต่อไปแต่ยังมีสามีและลูกอีก 2 คนในวัยประถมที่กำลังเข้าโรงเรียน ความเครียดและการต้องอยู่เฉย ๆ กลับกลายเป็นแรงพลักดันที่ทำให้เธอมาเข้าร่วมกับเพื่อน ๆ กลุ่มแรงงานข้ามชาติเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่เธอบอกว่าลำบากกว่าเธอในช่วงนี้ “มาช่วยอยู่ที่นี่ก็ดี จะได้ไม่ต้องฟุ้งซ่าน กลับบ้านไปเครียดเรื่องไม่มีงานทำ” เธอย้ำ
“มาช่วยอยู่ที่นี่ก็ดี จะได้ไม่ต้องฟุ้งซ่าน กลับบ้านไปเครียดเรื่องไม่มีงานทำ”
โมโมเอ เจซี
แม่บ้านชาวพม่าโมโมเอคือหนึ่งในแรงงานข้ามชาติกว่า 30 คนที่อาสามาร่วมทำอาหารและแจกแจงอาหารในเมื่อเสาร์ที่ผ่านมา การรวมตัวกันของกลุ่มแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่กลุ่มหนึ่งที่ชื่อว่า Thai Based Myanmar Born Gurkha Youth Association of Thailand (MBG) หรือกลุ่มเยาวชนกุรข่า โดยมี Johnny Adhirka หรือพี่จอนนี่เป็นตัวแทนของกลุ่ม
เชื่อมต่อชุมชนแรงงานที่กระจัดกระจาย
จอนนี่เห็นสอดคล้องกันกับโมโมเอว่าการออกมาร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมของกลุ่มแรงงานนอกเหนือจากจะได้ช่วยเหลือคนอื่นในยามที่ลำบากแล้ว การออกมาร่วมกันทำงานยังเป็นการ “bring community” หรือการรวมชุมชน ซึ่งเป็นการทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มแรงงานในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ปกติจะไม่ค่อยได้พบปะ และรู้จักกันแต่การออกมาร่วมกันทำกิจกรรมอาสาสมัครอย่างนี้ได้ทำให้เกิดการรวมตัวกันของชุมชนได้ง่ายขึ้น และจะเป็นผลดีต่อไปในกิจกรรมอื่น ๆ ในอนาคต “ปกติทุกคนก็มีงานทำกัน ก็ไม่รู้จักกันไม่ได้คุยกัน ซึ่งตอนนี้กลายเป็นว่าได้มาคุยกันใครที่มีปัญหาก็ได้เอามาเล่า กลายเป็นว่าการมาทำงานทั้งวันได้รอยยิ้มไป กลับบ้านไปก็ไม่เครียดละ”
“ปกติทุกคนก็มีงานทำกัน ก็ไม่รู้จักกันไม่ได้คุยกันตอนนี้กลายเป็นว่าได้มาคุยกันใครที่มีปัญหาก็ได้เอามาเล่า กลายเป็นว่าการมาทำงานทั้งวันได้รอยยิ้มไป กลับบ้านไปก็ไม่เครียดละ”
Johnny Adhirka
Thai Based Myanmar Born Gurkha Youth Association of Thailand (MBG) หรือกลุ่มเยาวชนกุรข่าครัวกลาง ทางรอดทางเศรษฐกิจหลังโควิด?
นอกเหนือจากการที่แรงงานข้ามชาติอย่างโมโมเอ อาสามาเป็นแม่ครัวประจำ “ครัวกลาง” ที่วัดทรายมูลพม่าที่ทำอาหารและแจกจ่ายให้กับผู้คนในตัวเมืองเชียงใหม่ทำให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติได้คลายเครียดจากความทุกข์ช่วงโควิด-19 แล้ว “ครัวกลาง” นี้ยังได้กลายเป็นโมเดลที่น่าสนใจที่น่าจะใช้แก้ไขโรคภัยทางเศรษฐกิจในช่วงระหว่างการระบาดของโรคและเป็นทางออกหลังการระบาดของโรคได้อีกด้วย
“เราทำมาวันนี้(2/05/2020) เป็นวันที่ 10 แล้วจากวันแรก ๆ มีคนมารับแค่ 100 คน วันนี้เราแจกไปแล้ว 700 กว่าคน เห็นว่ามันเพิ่มขึ้นแบบนี้ปัญหาในระหว่างโควิดนี้คงยังไม่หายไปไหนง่าย ๆ” จอนนี่บอกเล่าถึงแนวโน้มผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิดในตัวเมืองเชียงใหม่ที่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ
“เราคงแจกอย่างนี้ได้ไม่นานหรอก” ปอ หรือ ภรดล พรอำนวย นักกิจกรรมที่ทำงานด้านสังคมในจังหวัดเชียงใหม่บอกเล่าถึงปัญหาที่เขาพบหลังจากการแจกอาหารมานานกว่า 28 วัน ไว้ใน facebook ส่วนตัว ปัญหาที่ทำให้เขาคิดว่าการมี “ครัวกลาง” ขึ้นในแต่ละชุมชนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับกลุ่มเสี่ยงทั้งในระหว่างช่วงการระบาดของโควิดและหลังการระบาดของโควิด เพราะเขาคิดว่าการแจกอาหารไปเรื่อย ๆ นั้นไม่ทำให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ปัญหา โดยเขาและเพื่อน ๆ ได้นำเสนอโครงการที่ชื่อว่า “หนึ่งชุมชน หนึ่งครัวกลาง”
นอกเหนือจากการที่ให้ชุมชนเป็นผู้ดูแลการแจกจ่ายและผลิตอาหารสำหรับคนในชุมชนเองแล้ว เขายังเห็นว่าโมเดลนี้จะมีความยั่งยืนได้ด้วยการกลายเป็นร้านขายอาหารราคาถูกในยามเช้า “ชุมชนเสนอขึ้นมาเองเลยว่าไหน ๆ เราก็จะมีครัวกลางกันแล้วก็น่าจะขายอาหารในเวลากลางวันไปเลย และจะได้นำเงินจากการขายมาซื้อวัตถุดิบและให้กับพ่อครัวแม่ครัวที่กำลังตกงานอยู่ในช่วงนี้”
ในขณะนี้ (3/05/2020) ได้เกิดครัวกลางขึ้นจากการสนับสนุนของภรดลและกลุ่ม ChiangMaiTrust มาแล้วกว่า 15 ชุมชนจากทั้งหมด 97 ชุมชนที่กระจายตัวกันอยู่ในเมืองเชียงใหม่ โดยเขาได้ทำและกลุ่มได้ช่วยเหลือด้วยการมอบเงินสนับสนุนในการจัดตั้งครั้งแรก 10,000 บาท โดยหวังว่าจะช่วยเปิดพื้นที่ที่ทำให้เกิดความยั่งยืนหรือแม้กระทั่งเป็นช่องทางหนึ่งที่รัฐอาจจะเลือกที่จะสนับสนุน
ความพยายามของภรดลและกลุ่ม ChiangMaiTrust ที่จะสร้างครัวกลางในฐานะทางแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจทั้งในระหว่างช่วงโควิดและหลังช่วงโควิดที่แน่นอนว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๆ 1 เดือนแม้ว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติสอดคล้องกับสิ่งที่จอนนี่ตัวแทนกลุ่มที่คอยช่วยเหลือแรงงานบอกว่า “ไม่ใช่ว่าพอหมดโควิดแล้วทุกอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมเลย อย่างน้อยเราก็ต้องใช้เวลา 1 เดือนในระหว่างที่รอการจ่ายเงินเดือน ดังนั้นการมีครัวกลางไว้ก็คงยังจำเป็นอยู่”
เรื่องราวของโมโมเอที่รักษาความเครียดจากการตกงานด้วยการมาทำงานอาสาสมัครและโมเดลครัวกลางที่เริ่มต้นโดยภรดลและกลุ่ม ChiangMaiTrust แม้ว่าจะมีปัญหาในการเริ่มต้นอยู่บ้างแต่นี้อาจจะเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้แก้ปัญหาสองอย่างทั้งด้านจิตใจและเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งแน่นอนว่าหากได้รับการสนับสนุนจะช่วยคลี่คลายความรู้สึกถูกทิ้งจากรัฐในระหว่างนี้ได้ไม่มากก็น้อย
คุณทำอะไรได้มากกว่าการอ่าน
ร่วมสนับสนุนโครงการครัวกลาง