Cost of lives, cost of living / ฆ่าครองชีพ” นิทรรศการภาพถ่ายบนผืนผ้ายาวกว่า 13 เมตร ในรูปแบบงานบุญผะเหวด ของวิศรุต แสนคำ
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ผ่านมา วิศรุต แสนคำ ช่างภาพกลุ่มเรียลเฟรม ได้จัดทำนิทรรศการภาพถ่ายชื่อว่า “Cost of lives, cost of living / ฆ่าครองชีพ” ในงานเสวนาพูดคุยในหัวข้อ “ซ่อมเขื่อน ไม่ซ่อมคน? ชีวิตหลังเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ในความรู้ (สึก) ของคนเคยไป”
เนื่องด้วยโอกาสที่ครบรอบสองปี (วันที่ 23 กรกฎาคม) เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ซึ่งร่วมกับเครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว (Laos Dam Investment Monitor: LDIM) โดยการสนับสนุนของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นิทรรศการภาพถ่ายยาวกว่า 13 เมตร แบ่งชุดภาพออกเป็น 3 เซต ได้แก่ Invisible grid, Present reading และ Drowned dreams
“การใช้ไฟฟ้าควรถูกมองว่าเป็นเหมือนปลาหมึก เหมือนกับที่เราตั้งคำถามกับที่มาของปลาหมึกว่ามันมีที่มาจากไหน เกิดจากการขูดรีดแรงงานรึเปล่า มันเป็นเรื่องต้นทุนความเสียหายที่มองไม่เห็น ทำให้ต้องคำนึงถึงแหล่งที่มา ความสัมพันธ์ของสิ่งนั้น ๆ เพราะผมอยากจะสื่อสารกับคนที่ใช้ไฟฟ้าว่าควรมีการคำนึงถึงอะไรบ้าง เหมือนกับก่อนที่เราซื้ออาหารทะเลกิน ว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร” วิศรุตกล่าว
เล่าประสบการณ์จากการไปถ่ายภาพในพื้นที่เขื่อนแตก เมื่อสองปีที่แล้ว
“หากคิดถึงการที่ได้ไปลงพื้นที่เมื่อสองปีที่แล้ว ผมมักนึกถึง “ช้าง” เด็กในชุมชน เขาอายุ 12 ปี อยู่บ้านหินลาด เป็นเด็กคนหนึ่งที่บ้านถูกน้ำท่วม เขาต้องย้ายจากโรงเรียนที่ใกล้บ้าน ไปเรียนโรงเรียนแห่งใหม่ที่ต้องปั่นจักรยานไปในเช้าของทุกวันใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง ผมก็ได้มีโอกาสขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่ง และได้พูดคุยด้วยเสมอ”
การอยู่กับช้างทำให้เขามองเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเขื่อนแตกอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เขาเกิดคำถามกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและอยู่เพื่อมองหาคำตอบต่อไป
“ผมได้อยู่ต่อคนเดียวในพื้นที่ เนื่องจากเรามีคำถามมากมายในหัว ที่ยังไม่รู้และอยากจะหาคำตอบ ทั้งในแง่ของภาพถ่ายด้วย เหมือนกับงานมันยังไม่เสร็จ อยากทำให้มันเสร็จ อีกทั้งเป็นช่วงปีใหม่พอดี อยากรู้ว่าช่วงปีใหม่ในพื้นที่จะเป็นบรรยากาศอย่างไรบ้าง”
“ตอนแรก ผมก็อยากจะถ่ายภาพเล่าบรรยากาศตอนช่วงปีใหม่ของที่นั่น เพื่อสื่อสารว่าชาวบ้านก็มีความสุขได้ มีความทุกข์ได้ เหมือนกันกับมนุษย์ทุกคนบนโลก แต่ชาวบ้านบอกกับผมว่า “อย่าถ่ายเลย เดี๋ยวถูกมองว่าไม่ดี” มันก็สะท้อนความเข้าใจของชาวว่า การที่เป็นเหยื่อก็ควรจะถูกมองเป็นเหยื่อตลอดเวลา”
วิศรุตพูดพร้อมทิ้งท้ายว่า “ซ่อมเขื่อนได้ แต่ผมไม่รู้ว่าจะซ่อมคนได้หรือไม่”
คิดอย่างไรจึงจัดนิทรรศการภาพถ่ายในรูปแบบนี้?
“ผมเบื่อการเอารูปไปติดผนัง เบื่อรูปถ่ายสารคดีที่ไม่เหมาะกับการไปติดผนัง บางคนก็แก้ไขโดยการทำให้ภาพถ่ายมี aesthetic มากขึ้น เช่น ทำให้ภาพให้ดูเป็นสีพาสเทล เหมาะแก่การตกแต่ง เพราะอย่างภาพที่เราถ่าย มันเป็นเรื่องความเสียหาย ผลกระทบต่าง ๆ มันคงไม่มีใครอยากเอาไปติดผนังบ้านตัวเอง”
วิศรุตเล่าว่าเขาอยากลองจัดแสดงภาพถ่ายเพื่อมองหา visual ใหม่ ๆ ที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่ายมากขึ้น
“อยากจะบอกข้อความที่อยากจะบอก คือ ไฟฟ้ามันเป็นเรื่องของทุกคน และฟอร์มแบบเดิมมันไม่ตอบอะไรเลย ไม่สื่อสารอะไร อย่างผ้าแห่บุญผะเหวด มันเป็นวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างคนอีสานกับคนลาว มันแห่ได้ แห่เพื่อเอาไปติดผนังวัด อย่างรูปแบบนี้ก็อยากจะเอามันไปลงถนนก็ได้ มันจึงเหมาะสมกับข้อความและเรื่องที่อยากจะพูด”
ในฐานะช่างภาพ มีความคิดเห็นอย่างไรกับใช้ภาพทำงานเพื่อสื่อสาร?
วิศรุตมองว่าเขาใช้ภาพถ่ายในเชิงเป็นเครื่องมือในการสื่อสารมากกว่า ไม่ได้ยึดติดกับการใช้ภาพถ่ายขนาดนั้น แต่มันเป็นเครื่องมือที่เขาถนัดที่สุดแล้วในตอนนี้
เขาเปรียบภาพถ่ายเหมือนกับดนตรี เป็นเสมือนเครื่องมือหนึ่งในการแสดงออกบางอย่างที่นำไปสู่เนื้อหาสาระหรือประเด็นปัญหานั้น ๆ ที่อยากจะสื่อสาร แปลว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสื่อสารคือ message ที่อยากจะเล่ามากกว่า
อย่างนิทรรศการภาพถ่ายนี้ก็มีคำถามว่าจะเราสื่อสารกับคนทั่วไปยังไงให้เข้าใจและตระหนักถึงการใช้ไฟฟ้าที่มันสัมพันธ์กันกับผู้คนในประเทศลาว
“ผมไม่สามารถไปสื่อสารหรือเรียกร้องกับกลุ่มผู้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างบริษัทลงทุน ธนาคารได้ แต่ผมสามารถที่จะสื่อสารกับคนทั่วไปที่บริโภคใช้ไฟฟ้า ผมจึงอยากสื่อสารให้มันง่ายที่สุด อย่างไฟฟ้าคือปลาหมึก มันฟังง่ายและติดหูดี (easy and catchy) ด้วย”
สุดท้ายแล้วเราย่อมต้องทำงานกับความคิดเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อนำไปสู่กระบวนการในการสื่อสารที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากพอที่จะเล่าเรื่องนั้น ๆ ต่อไปได้
งาน Cost of lives, cost of living / ฆ่าครองชีพ ยังคงจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 5 สิงหาคมนี้ ณ ร้าน Dialogue coffee and gallery ชั้นสอง เปิดตั้งแต่ 11.00-22.00 น.