เสรีภาพของแพะแกะ

ในฐานะคนนอกพื้นที่ การพบเจอแพะและแกะเดินอยู่บนท้องถนนทั่วเมืองปัตตานีเป็นอะไรที่ตื่นเต้นอยู่พอควร เรียกได้ว่าเป็น culture shock รูปแบบหนึ่งเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆในประเทศ โอกาสที่เราจะพบเจอสัตว์บนท้องถนน ตลาดสด หรือโรงเรียน คงหนีไม่พ้นหมาและแมว ต่างจากปัตตานี สำหรับที่นี่แพะอาจไม่ได้อยู่ในกรงขัง เช่นเดียวกับแกะที่สถานะของมันไม่ใช่สัตว์เลี้ยงน่ารักที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวตามคาเฟ่เหมือนในพื้นที่อื่นๆ

ในมุมหนึ่งนั่นคือวิถีดั้งเดิม บ้างก็ว่างดงามในเชิงวัฒนธรรม หลากหลายและเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับศาสนาตามแบบฉบับของชาวมุสลิมมาลายูที่ผูกพันธ์กับแพะและแกะตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต ขณะที่ในทางสาธารณสุขนี่อาจไม่ถูกสุขลักษณะเท่าไหร่เมื่อมองถึงสภาพความเป็นอยู่ของพวกมัน บ่อยครั้งเราสามารถพบเจอแพะและแกะอยู่ตามกองขยะหรือพื้นที่รกร้าง ซึ่งความเป็นอิสระของพวกมันบางครั้งก็ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้เช่นกันโดยการขับถ่ายของเสียไปตลอดเส้นทางหากิน

และหากมองในมุมทางมานุษยวิทยาอย่างง่ายๆ เราอาจคาดเดาได้ว่าตรงไหนหรือชุมชนใดเป็นที่อยู่ชาวพุทธและมุสลิม ซึ่งผมใช้มันเป็นข้อสังเกตส่วนตัว เมื่ออยู่ในชุมชนชาวพุทธผมมักจะพบทั้งหมามีเจ้าของและหมาจรได้เหมือนกับที่สามารถพบได้ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันที่ผมแทบไม่เห็นหมาจรในชุมชุนมุสลิมและไม่เจอแกะในชุมชุนพุทธ

นี่อาจสะท้อนถึงความหมายของพหุวัฒนธรรมว่าอาจไม่ใช่การอยู่ร่วมกันในชุมชนหรือพื้นที่เดียวกันอย่างกลมเกลียวถ้อยทีถ้อยอาศัย หากแต่ดำเนินชีวิตกันไปแบบต่างคนต่างก็อยู่กันไปไม่ก้าวก่ายวุ่นวายกันมากกว่า ในมุมมองคนนอกผมเห็นแบบนั้น แม้ไม่โรแมนติกแต่ก็ไม่ได้มีสัญญาณของความรุนแรง และแน่นอนว่าย่อมไม่เลวร้ายถึงขนาดที่จะนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการบังคับใช้กฏหมายพิเศษที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชนของคนในพื้นที่กว่า 18 ปีที่ผ่านมา

ถึงที่สุดอาจเป็นเรื่องตลกร้ายหากมองว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ “แพะที่เป็นคนยังคงถูกจองจำ ขณะที่แพะที่ใช้ในพิธีกรรมกลับมีอิสระเสรี”