หมุดหมายของคณะราษฎร 2563
เมธิชัย เตียวนะ
ย่ำรุ่งวันที่ 20 กันยายน กลุ่มคณะราษฎร 2563 ได้วางหลักปักหมุดทองเหลืองขนาด 11.6 นิ้ว ลงพื้นปูนซีเมนต์ ณ ท้องสนามหลวง บนหมุดสลักข้อความว่า “20 กันยายน 2563 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ ผองราษฎรได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง”
“หมุดมันไม่ได้ปักไว้แค่ที่พื้นสนามหลวง แต่มันปักไว้ในใจคน คุณดึงไปได้เราก็หล่อใหม่ได้” เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวหลังหมุดคณะราษฎร 2563 ถูกถอดรื้อไปในเช้าขอวันที่ 21 กันยายน
ในช่วงเวลาหลังจากนั้นไม่นานสัญลักษณ์หมุดคณะราษฎรที่ 2 ถูกนำไปพูดถึง แล้วถูกสร้างสรรค์เป็นหลากหลายรูปแบบโดยนักวาดภาพหลายคน รวมไปถึงการถูกนำเอาสัญลักษณ์หมุดคณะราษฎรที่ 2 มาทำเป็นธง เข็มกลัด เสื้อยืด สติ๊กเกอร์ หน้ากากอนามัย ธนบัตรคณะราษฏร บง(แท่งไฟ) ป้ายในการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกร้องในประเด็นต่างๆ รวมไปถึงใบปริญญาบัณฑิตของราษฎรที่เป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวเพื่อเชิญชวนให้ไม่เข้ารับปริญญา

- นักศึกษากำลังคล้องแขนเพื่อตั้งแนวการ์ดก่อนจะเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อกดดันพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาโดยให้เวลา 3 วันในการเซ็นใบลาออก / 21 ตุลาคม
- กลุ่มนักเรียนเลวเดินขบวนแห่โลงศพสีขาวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ประท้วงการทำงานของณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ / 14 พฤศจิกายน
- กลุ่มผู้หญิงปลดแอกเดินขบวนเรียกร้องการทำแท้งถูกกฏหมายในขบวนไพร่พาเหรด / 7 พฤศจิกายน

- สติกเกอร์หมุดคณะราษฎรที่ 2 ติดอยู่บนผนังกับข้อความ “Free my friends” เป็นการเรียกร้องของผู้ชุมนุมให้ปล่อยตัวกลุ่มแกนนำที่ถูกควบคุมตัวในวันที่ 13-14 ตุลาคม 2563 / 15 ตุลาคม
- สัญลักษณ์หมุดคณะราษฎรที่ 2 ถูกพ่นโดยสีทองลงบนพื้นถนนหน้าสัปปายะสภาสถาน ซึ่งเป็นการชุมนุมกดดันให้ สส. แก้รัฐธรรมนูญ / 24 กันยายน
หากจะเปรียบการต่อสู้ของคณะราษฎร 2563 เป็นหนังสักเรื่อง สัญลักษณ์หมุดคณะราษฎรที่ 2 ก็คงเป็น Easter egg ที่ถูกใส่ไว้ในฉากต่างๆ ของหนังเพื่อสื่อสารประเด็นบางอย่าง แน่นอนในหนังเรื่องนี้หมุดนี้หมายถึง ราษฎรผู้เป็นเจ้าของประเทศนี้โดยแท้จริงตามข้อความที่สลักไว้บนหมุด หรืออาจตีความหมายรวมไปถึง 3 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร 2563 คือ การเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, การเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน และการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
การปรากฎสัญลักษณ์หมุดคณะราษฎรที่ 2 ในขบวนที่มีการเรียกร้องในประเด็นเฉพาะหลายๆ ประเด็นนั้น ฉายให้เห็นจุดร่วมสำคัญของการเคลื่อนไหวในปีที่ผ่านมาคือ ผู้ชุมนุมไม่เพียงแต่มองเห็นปัญหาเฉพาะประเด็น แต่มองเห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกมาอย่างยาวนาน และทำให้ปัญหาเฉพาะประเด็นไม่สามารถแก้ไขได้ การแก้ไขปัญหาเฉพาะประเด็นไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างจึงเป็นหมุดหมายที่ผู้ชุมนุมมีร่วมกันผ่านข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และสัญลักษณ์หมุดคณะราษฎรที่ 2

- ผู้ชุมนุมกำลังชูสามนิ้วกลางแยกราชประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกควบคุมตัว / 15 ตุลาคม
- สัญลักษณ์หมุดคณะราษฎรที่ 2 ถูกนำมาดัดแปลงเป็นกังหันขนาดเล็ก / 25 ตุลาคม
- ชุมนุมแต่งชุดคล้ายเทพีเสรีภาพ และถือแท่งไฟรูปหมุดคณะราษในการเดินขบวนไพร่พาเหรดบริเวณถนนสามย่าน / 7 พฤศจิกายน
- กลุ่มคณะลาบ 2563 จัดกิจกรรมแจกลาบก้อยให้กับผู้ชุมนุมในม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร / 27 พฤศจิกายน
- มะเดี่ยวหุ่นนิ่งถือหมุดคณะราษฎรที่ 2 บริเวณถนนราชดำเนิน / 14 พฤศจิกายน

- บัณฑิตธรรมศาสตร์ของราษฎรจัดกิจกรรมมอบปริญญาแด่บัญฑิตเพื่อประชาธิปไตย / 24 ตุลา
- กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการปิดปาก และมัดมือหน้าองค์การสหประชาชาติเพื่อกดดันรัฐบาลไทยให้ยกเลิก ม.112 / 10 ธันวา
- ผู้ชุมนุมกำลังเดินขบวนไปยังพระบรมมหาราชวังเพื่อส่งจดหมายถึงสถาบันกษัตริย์ / 8 พฤศจิกายน
