“ไม่มีน้ำหยดไหนที่ไหลลงสู่ทะเลไปเปล่าๆ น้ำทุกหยุดแม่น้ำทุกสายหล่อเลี้ยงผืนแผ่นดิน ระบบนิเวศ ผู้คน ป่าไม้ ไม่มีแม่น้ำสายไหนไหลลงทะเลไปเปล่าๆ ปัจจุบันแนวคิด Nature Based Solution ควรที่จะเป็นนโยบายหลักในการพัฒนาประเทศมากกว่า” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประจำประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวถึงวาทกรรมที่มักจะถูกใช้โดยผู้ริเริ่มโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ว่าการกักเก็บน้ำไว้ใช้ย่อมดีกว่าปล่อยให้มันไหลไปสู่ทะเลโดยเปล่าประโยชน์เสมอ หากเป็นเช่นนั้นจริง ประเทศไทยคงปราศจากปัญหาภัยแล้งเมื่อพิจารณาจากปริมาณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ รวมไปถึงการสร้างฝายชะลอน้ำที่มีพื้นฐานมาจากแนวคิดเดียวกันคือการลดการสูญเสียปริมาณน้ำเหล่านั้นไปโดยเปล่าประโยชน์
แนวคิดการสร้างเขื่อนฮัตจีแรกเริ่มเกิดขึ้นในประเทศพม่าภายหลังปีพ.ศ. 2548 ประเทศไทย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ให้ความสนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการสร้างเขื่อนฮัตจีเพื่อผลิตไฟฟ้าส่งกลับมายังประเทศไทย มีจีนเป็นแหล่งเงินทุนใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังการก่อสร้าง โดยเขื่อนฮัตจีเป็นหนึ่งใน 6 เขื่อนที่ทางการพม่ามีแผนจะสร้างขึ้นกั้นบริเวณแม่น้ำสาละวิน แต่เป็นบริเวณที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบกับประเทศไทยมากที่สุดเนื่องจากบริเวณที่ก่อสร้างอยู่ห่างจากแนวเขตชายแดนประเทศไทยบริเวณบ้านสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอนไปเพียง 47 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นระยะทางที่ใกล้มากหากมองในมุมของระบบนิเวศแบบลุ่มแม่น้ำที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงใดๆ มักจะเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง
ผมได้ยินชื่อเขื่อนฮัตจีครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อนสมัยเริ่มต้นสนใจเรื่องการเมืองในประเทศพม่าจากนั้นข่าวการสร้างเขื่อนฮัตจีมีให้เห็นอยู่เรื่อยมาตามหน้าสื่อไทยเมื่อมีการขยับจากทางผู้สร้างไม่นานนักเสียงเรียกร้องคัดค้านก็จะตามมาจนกลายเป็นของคู่กัน ภาพของกิจกรรมวันหยุดเขื่อนโลกที่มักจะถูดจัดขึ้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำสาละวินกลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของกลุ่มผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนที่ยังคงยืนหยัดแม้ว่าเวลาจะผ่านมานานหลายปี ซึ่งกระบวนการคัดค้านต่างๆล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการรัฐประหารในพม่าในเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 จากเหตุการณ์นั้นทำให้ความเคลื่อนไหวของทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านหายไปในทันที
ผมลงพื้นที่สาละวินครั้งแรกไม่นานนักภายหลังจากข่าวการรุกล้ำน่านฟ้าของเครื่องบินจากกองทัพรัฐบาลทหารพม่า บ้านแม่สามแลบเปิดให้ผู้คนผ่านเข้าออกได้เป็นปรกติแล้วแต่ก็ยังคงทิ้งร่องรอยความเข้มงวดของฝ่ายความมั่นคงอยู่พอสมควร เนื่องจากยังมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องบริเวณชายแดนฝั่งตรงข้ามแม่น้ำสาละวิน ชาวบ้านยังคงหวาดผวากับเหตุการณ์เครื่องบินรบทิ้งระเบิด “จริงๆแล้วชาวบ้านถ่ายคลิปกันไว้ได้หลายคนตอนเครื่องบินผ่านชายคาบ้าน แต่สักพักมีทหารเข้ามาขอให้ไม่เอาลงโซเชียลไม่ส่งให้นักข่าว กลัวจะกระทบความมั่นคง ไม่งั้นคงได้เห็นกันหลายมุม” ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังถึงเหตุการณ์วันนั้นที่ทำให้ทั้งหมู่บ้านต้องมีมาตรการในการซ้อมหลบภัย
ในมุมของสิ่งแวดล้อมอาจไม่สามารถมองให้เป็นด้านบวกได้ แต่ถึงกระนั้นแล้วโควิดและสงครามได้ก่อให้เกิดภาวะสูญญากาศขึ้นกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ทั่วภูมิภาค นั่นรวมถึงโครงการก่อสร้างเขื่อนฮัตจีที่หยุดชะงักลงชั่วคราวเสมือนการพักยกให้ทุกฝ่ายกลับมาตั้งหลัก ทบทวนและปรับกระบวนการต่อสู้ รวมถึงการปรับตัวของรัฐบาลทหารพม่าที่มีความเป็นเผด็จการมากขึ้นภายหลังการทำรัฐประหาร นั่นอาจนำมาซึ่งการตัดสินใจเดินหน้าโครงการก่อสร้างอย่างเต็มกำลังหากสามารถยึดครองฐานที่มั่นบริเวณริมฝั่งสาละวินได้อย่างเบ็ดเสร็จจากกองกำลัง KNU นั่นคือสิ่งที่หลายคนกังวล
โควิดกำลังจะผ่านไปขณะที่สงครามยังไม่มีท่าทีจะจบแม้ว่าข่าวการปะทะกันจะเลือนหายไปจากหน้าสื่อไทยแต่ความเป็นจริงในพื้นที่นั้นตรงกันข้าม เสียงปืนและเสียงระเบิดยังสามารถได้ยินจากหลายหมู่บ้านชายแดนริมฝั่งแม่น้ำสาละวินราวกับเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน มีการสร้างบังเกอร์ไว้รองรับกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่นเดียวกับที่มีการฝึกซ้อมอพยพเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนบริเวณชายแดน
“จริงๆแล้วชาวบ้านถ่ายคลิปกันไว้ได้หลายคนตอนเครื่องบินผ่านชายคาบ้าน แต่สักพักมีทหารเข้ามาขอให้ไม่เอาลงโซเชียลไม่ส่งให้นักข่าว กลัวจะกระทบความมั่นคง ไม่งั้นคงได้เห็นกันหลายมุม”
บ้านท่าตาฝั่งคือหนึ่งในตัวอย่างของการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์เหล่านั้น ผู้มาเยือนอย่างพวกเราต่างพูดกันว่านี่คือหมู่บ้านกระสุนตกอย่างแท้จริง ร่องรอยของกระสุนปืนใหญ่ที่พลาดเป้าข้ามมาตกในฝั่งไทยและเสียงก้องกังวาลผ่านความเงียบทั้งกลางวันและกลางคืนคือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันภายหลังรัฐประหารในพม่าครั้งล่าสุด ด้วยความที่สายน้ำสาละวินเป็นเส้นทางสำคัญในการลำเลียงเสบียงและสิ่งของที่จำเป็นสำหรับกองกำลัง KNU และชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง ทำให้ฐานที่มั่นริมฝั่งสาละวินของ KNU ตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีเพื่อชิงความได้เปรียบของกองทัพทหารพม่าดังจะเห็นได้จากการเลือกใช้เครื่องบินรบที่ถือเป็นอาวุธหนักในการจู่โจม
ผลจากสงครามชัดเจนเช่นกันที่บ้านแม่สามแลบ เมืองท่าทางการค้าที่สำคัญทางฝั่งชายแดนตะวันตกของประเทศไทย ก่อนหน้าสถานการณ์โควิดท่าเรือแม่สามแลบคือแหล่งขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคข้ามพรมแดนที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณของรัฐกะเหรี่ยงที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยซื้อสินค้าที่จำเป็นจากฝั่งไทยเนื่องจากมีคุณภาพที่ดีมีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ และการข้ามเรือมาซื้อสินค้าสะดวกกว่าการใช้รถยนต์ในการขนส่ง ในช่วงเวลาปรกติภาพของเรือโดยสารจอดเรียงรายรอรับผู้คนและสินค้าเพื่อขนกลับไปยังฝั่งประเทศพม่าถือเป็นภาพจำของที่นั่น เช่นเดียวกับเรือบริการนำเที่ยวที่มักจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ต้องการมาชมความงดงามของธรรมชาติบริเวณริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน รวมไปถึงร้านขายสินค้าและร้านอาหารที่เรียงรายบริเวณท่าเรือแม่สามแลบ เหล่านี้กลายเป็นภาพอดีตตรงข้ามกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เงียบเหงา นักท่องเที่ยวยังคงไม่กลับมา การขนส่งสินค้ายังพอมีให้เห็นบ้างแต่เป็นการเดินทางมากักตุนเสบียงและข้าวของที่จำเป็นกลับไปยังฝั่งรัฐกะเหรี่ยงเนื่องจากยังไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัยบริเวณชายแดน แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ที่ภายหลังการคลี่คลายของสถานการณ์โควิดผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตกันเป็นปรกติ
ธรรมชาติอาจฟื้นคืนภายใต้ภาวะสูญญากาศทางการเมืองแต่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่กำลังถดถอยท่ามกลางความไม่แน่ใจในความปลอดภัยที่เป็นผลพวงของสงคราม แม้ว่าแม่น้ำสาละวินจะยังคงเป็นเป็นสายน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยพันธ์ุปลาหลากหลายชนิด แต่ด้วยลักษณะของแม่น้ำที่เป็นเกาะแก่งน้ำไหลแรงและเต็มไปด้วยตะกอนสีขุ่นทำให้การหาปลาในฤดูฝนที่ปริมาณน้ำมากทำได้ค่อนข้างลำบาก การจับปลาบริเวณลำน้ำสาละวินจึงนิยมทำกันมากในช่วงฤดูแล้งที่น้ำใสกว่าและกระแสน้ำไม่แรงมากนัก ทำให้รายได้จากการจับปลาขายไม่แน่นอนถึงแม้ว่าปลาจากแม่น้ำสาละวินจะขึ้นชื่อว่ามีรสชาติดีและเป็นที่ต้องการของร้านอาหารต่างๆ ในปริมาณมากก็ตาม ขณะที่รายการสินค้าที่ต้องจับจ่ายทั้งของกินของใช้ราคาปรับเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน
ธันวาคมคือครั้งล่าสุดที่ผมลงพื้นที่สาละวินอากาศเย็นในฤดูหนาวที่ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในอำเภอแม่สะเรียงกลับมาคึกคักเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินไปมาบนท้องถนน โรงแรมจำนวนมากถูกจองเต็มทุกสุดสัปดาห์คือเครื่องยืนยันว่าผลกระทบจากโควิดกำลังจะจากเราไป ผมกลับเข้าไปขึ้นเรือที่บ้านแม่สามแลบเพื่อเดินทางไปยังบ้านสบเมยในทริปสื่อมวลชนที่จัดขึ้นโดยองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ นำโดยนายกอบต.พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ หรือ “นายกชัย” ชื่อที่คุ้นเคยของชาวบ้าน เป็นความพยายามนำเสนอความสมบูรณ์และสวยงามทางธรรมชาติบริเวณสองฝั่งแม่น้ำสาละวินร่วมกับทะเลหมอกสองแผ่นดินที่ปกคลุมผืนป่าตะวันตกเป็นบริเวณกว้าง ทั้งหมดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับคืนสู่บริเวณชายแดนแม่น้ำสาละวิน ซึ่งทางอบต.เล็งเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวที่จะเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการหล่อเลี้ยงชุมชน นอกเหนือไปจากการทำเกษตรกรรมที่ติดปัญหาเรื่องการขนส่ง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณชายแดนเป็นภูเขาสลับซับซ้อน หลายหมู่บ้านต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อในการเดินทาง ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะขนผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาด “ถ้าการท่องเที่ยวแถบสาละวินได้รับความนิยมจะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น เดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นสายตั้งแคมป์ที่มีรถโฟร์วิลพร้อมอุปกรณ์กันมาแล้ว แต่เราอยากนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวแบบล่องเรือแม่น้ำสาละวิน ปัญหาคือความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยที่เป็นผลจากการสู้รบ แต่อันนี้มันพูดยาก ต้องใช้เวลาสร้างกัน” นายกชัยเล่าถึงโอกาสและข้อจำกัดของพื้นที่
ทุกครั้งในการลงพื้นที่ทำงานบริเวณแม่น้ำสาละวินผมพยายามมองหารูปธรรมและร่องรอยของความเคลื่อนไหวที่มีต่อโครงการขนาดใหญ่อย่างการสร้างเขื่อนฮัตจี แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีเพียงความเงียบที่ดูจะส่งเสียงดังกว่าเรื่องใดๆทั้งหมด ความเงียบที่ปกคลุมความยากลำบากของชีวิตผู้คนริมฝั่งสาละวินที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อไหร่ ขณะเดียวกันภายใต้ความเงียบมีความเป็นไปได้ที่คลื่นใต้น้ำขนาดใหญ่อาจจะกำลังก่อตัวภายใต้ความไม่เป็นประชาธิปไตยเหมือนที่ในประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับการผลักดันโครงการผันน้ำยวมเพื่อเติมน้ำให้กับเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นโครงการที่กระทบกับแม่น้ำสาละวินโดยตรง ทั้งสองโครงการคือโครงการขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างมีนัยสำคัญที่ไม่ใช่แค่เพียงความเป็นระบบนิเวศของลุ่มน้ำเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มทุนใหญ่จากประเทศจีนที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยและพม่า ซึ่งหากบริบททางการเมืองของทั้งสองประเทศยังคงถูกกำหนดทิศทางโดยกองทัพแล้วก็เป็นไปได้ว่าการต่อสู้เรื่องฐานทรัพยากรธรรมชาติและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในลักษณะเดียวกันนี้จะยังคงมีให้เห็นกันต่อไปอีกนาน
สำหรับประชาชนในพื้นที่ความกังวลของพวกเขาอาจไม่ใช่เรื่องการสร้างเขื่อนแต่เป็นเรื่องพื้นฐานอย่างปากท้องและความปลอดภัยที่ไม่สามารถรอได้เหมือนเรื่องอื่นๆ เสียงปืนยิ่งดังความเงียบยิ่งปรากฎชัดขึ้นบริเวณพื้นที่ชายแดนตะวันตก เสียงสายน้ำสาละวินที่ไหลกระทบเกาะแก่งอาจดังกว่าเสียงครวญของผู้คนในพื้นที่ ที่ความเงียบส่งเสียงกึกก้องแผ่กระจายปกคลุมไปทั่วแนวลำน้ำสาละวิน