พลังงานจากธรรมชาติ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของมนุษยชาติมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และคงดำเนินต่อไปในอนาคต ตราบเท่าที่ยังไม่มีฐานพลังงานทดแทนอื่นใดที่สร้างความคุ้มค่า ลดต้นทุน และให้ประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้พลังงานในวิถีแบบดั้งเดิม ในช่วงวิฤกตการณ์ COVID-19 เรายิ่งเห็นความสำคัญของการเดินทางของวัตถุดิบจากธรรมชาติในรูปแบบสินค้าแปรรูป เช่น สินค้าทะเลตากแห้ง ปลาตากแห้ง ในรูปแบบต่างๆ ส่งตรงจากครัวเรือนสู่ครัวเรือน
แสงแดดที่แผดเผาในตอนกลางวันของฤดูหนาว และฤดูร้อนของประเทศไทย เป็นภาพสะท้อนของแหล่งกำเนิดด้านพลังงานที่หล่อเลี้ยงชุมชนชาวประมงที่เติบโตมากับวิถีชีวิตการตากปลาแห้ง เป็นการแปรรูปผลผลิตจากการประมงในระดับครัวเรือนที่ใช้พลังงานทางเลือกขั้นพื้นฐานที่สุด แต่ปัจจุบันภาพการตากปลาทู การตากปลาหมึก ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณปากอ่าวในจังหวัดสมุทรสงคราม แทบจะไม่หลงเหลือให้เราได้เห็นกันบ่อยนัก ด้วยการเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมปลาตากแห้งขนาดใหญ่เพื่อการส่งออก ซึ่งใช้การอบไฟฟ้าในกระบวนการแปรรูป
ภาพแสงแดดที่ร้อนระอุในเวลากลางวัน เป็นหนึ่งในภาพที่เล่าถึงความสำคัญของแสงอาทิตย์และความร้อนที่ยังคงเป็นปัจจัยหลักของการทำนาเหลือ เกลือที่อุดมไปด้วยไอโอดีนจากทะเลของนาเหลือในจังหวังสมุทรสงคราม (ซึ่งสามารถทำได้เพียงแค่ช่วงระยะเวลาไม่กี่เดือน ราวๆ เดือนพฤศจิกายน ถึง ปลายเดือนมีนาคม) แต่ด้วยความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกกลับยิ่งซ้ำเติมข้อจำกัดของพลังงานธรรมชาติที่เคยประสบอยู่แล้วให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ชาวบ้านที่เติบโตมากับวิถีชีวิตพึ่งพิงพลังงานจากธรรมชาติได้แต่หวังว่าในอนาคตจะมีพลังงานทางเลือกอื่นใด ที่มาช่วยต่อลมหายใจของพวกเขา กลุ่มคนเล็กๆ ในพื้นที่เล็กๆ ของประเทศไทย ต่อลมหายใจให้กับความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศให้ก้าวต่อไปได้ ในวันที่เรายังไม่เห็นแสงสว่างที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่ทางรอดของพลังงานทางเลือก