Visual expression in Thai democratic uprising
ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
จากประสบการณ์ที่เพิ่งได้เริ่มมาจับงานการเมือง ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่คุกรุ่นในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมานี้มีจุดแข็งอย่างมากในด้านการแสดงออกในเชิง”ทัศนะ” ที่สามารถบอกเล่าถึงข้อความอันหลากหลายและถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าสนใจทั้งในเชิงสัญลักษณ์หรือการแสดงต่างๆ ผมคิดว่ามันก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนส่งสารของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ออกไปในวงกว้างมากผ่านสื่อต่างๆทั้งในประเทศและระดับสากล นอกจากนี้การแสดงออกต่างๆยังถูกขับเคลื่อนแปรเปลี่ยนอย่างไม่หยุดนิ่ง สัญลักษณ์ต่างๆยังคงเกิดขึ้นตลอดการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่ค่อยๆเคลื่อนไปข้างหน้า การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆมีให้มองหาในทุกอาทิตย์ที่มีการชุมนุม จึงเลือกภาพที่ติดตาผมในฐานะผู้เฝ้ามองคนหนึ่งระหว่างได้ไล่ตามถ่ายภาพปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของไทยครั้งนี้
โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าเรื่องนี้อาจสื่อถึงเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และอารมณ์ขันที่เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของคนไทยในสายตาผม ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่สะดุดแปลกตากว่าภาพจากคลื่นการชุมนุมของฝั่งเสรีนิยมที่ก็กำลังเกิดขึ้นในหลายๆภูมิภาครอบโลก นอกจากความคิดสร้างสรรค์และอารมณ์ขันแล้วการแสดงออกทางภาพที่โดดเด่นเหล่านี้อาจเป็นผลผลิตที่พลอยได้มาจากโครงสร้างของสังคมไทยที่การแสดงออกตรงๆถึงบางความคิดหรือมุมมองบางอย่างนั้นถูกปิดกั้น หรือการที่เรื่องเล่าของเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นก็อาจมีคนอยากให้ถูกลืมเลือนจางไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย


- หุ่นถูกผูกคอไว้กับต้นมะขามที่สนามหลวงเพื่อสื่อถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยที่ไม่มีผู้กระทำความผิดถูกจับกุมหรือถูกลงโทษ
- ผ้าสีแดงฉานถูกปูใต้ร่างของนักกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในปี 53 ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คนและได้รับบาดเจ็บหลักพัน


- ศาลไม้ถูกทุบตีแตกกระจายด้วยค้อนโดยกลุ่มนักผู้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมตัว ซึ่งความยุติธรรมในระบวนการทางตุลาการเป็นสิ่งหนึ่งที่เหล่าผู้ชุมนุมได้คอยเรียกร้องอยู่เสมอ
- เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มารักษาการดูแลความสงบที่การชุมนุมในเมืองหาดใหญ่ยืนตั้งแถวในขณะที่นักกิจกรรมที่ใส่ชุดมินเนี่ยนยืนเต้นอยู่ข้างหน้า ซึ่งมินเนี่ยนได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ pop culture ที่ใช้ในการล้อเลียนการเคลื่อนไหวของฝั่งตรงข้าม
- มวลชนที่มาชุมนุมร่วมกันชูสามนิ้วโดยพร้อมเพรียงที่การชุมนุมที่แยกราชประสงค์ การชูสามนิ้วได้เป็นสัญลักษณ์หลักของการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ โดยที่นิ้วทั้งสามสื่อถึง เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ
- คลิปหนีบผมรูปเป็ดยางถูกประดับไว้บนหัวของผู้ชุมนุม ที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ยอดนิยมของนักกิจกรรมหลังจากที่เป็ดยางถูกใช้เป็นโล่กันน้ำเฉพาะกิจระหว่างการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและรถฉีดน้ำที่หน้ารัฐสภา
