จากปากร้องสู่ปากท้อง

เด็กๆหลายคนในชุมชนแออัดคลองเตยไม่ได้มีบ้านที่เป็นเซฟโซนหรือพื้นที่ปลอดภัย อาจจะ เป็นเพราะบ้านนั้นมีขนาดเล็กและมีคนในครอบครัวจำนวนมาก จึงมักใช้เวลาช่วงกลางวันอยู่ ภายนอกของบ้าน อย่างเด็กคนนี้ที่มีพี่น้องรวมกันถึง 8 คน

“Music Sharing” คือ กลุ่มอาสาสมัครที่เข้ามาสอนดนตรีให้แก่เด็กในชุมชนแออัดเขต คลองเตย เพื่อดึงเด็กในชุมชน
หลีกหนีจากอบายมุขให้เด็กเห็นทางเลือกใหม่ ๆ ในการเติบโต นอกเหนือจากสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ที่เป็นอยู่ โดยใช้
โรงเชือดหมูเก่าที่ถูกปล่อยร้าง นำมาปรับปรุงใช้เป็นที่สอนดนตรีและศิลปะให้กับเด็ก ๆ ในชุมชน

เมื่อเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการแก้ปัญหา มีการสั่งปิดโรงเรียน ห้างร้านต่าง ๆ ตลอดจนสั่งห้ามออกนอก เคหะสถาน หลายคนหลากครอบครัวต่างตกงาน ขาดแคลนรายได้กันเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลก็ไม่ได้มีแผนมาตรการรองรับเยียวยาผลกระทบที่ตามมา ชุมชนแออัดเขตคลองเตยเป็น พื้นที่ที่มีประชากรทั้งเขตกว่า 80% ประกอบอาชีพหาเช้ากินค่ำ ใช้แรงงานแลกเบี้ยยังชีพขั้นต่ำ ประทังชีวิตและหล่อเลี้ยงคนในครอบครัว

กลุ่มคลองเตยดีจังและอาสาสมัครจะประชุมวางแผนทุกครั้งก่อนการลงพื้นที่ในชุมชน
แผนที่ชุมชนที่ได้มาจากการเดินสำรวจ

“ก่อนหน้านี้เข็นรถเข็นขายอาหาร พอเกิดวิกฤตแบบนี้ก็ไม่ได้ขาย เพราะขายไปก็ไม่มีคนซื้อ ลงทุนทุกวันแต่ก็ขายไม่ได้ ป้าไม่เคยหยุดขายนานขนาดนี้ ขายมา 30 ปีไม่เคยหยุดขายเลยสักวันเดียว”

เสียงจากคนในชุมชนเขตคลองเตย

เงินเยียวยา 5,000 บาทที่ทางรัฐบาลให้นั้น ก็ไม่ได้ครอบคลุมทุกคนต่างจากผลกระทบที่ได้รับ ทั่วถึงกันทุกหลังคาเรือน แม้แต่การแจกถุงพระราชทานคนที่มีทะเบียนบ้านเท่านั้นจึงจะมีสิทธิได้รับ

หากไม่มีโรคระบาดในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนนี้ก็คงจะมีเทศกาล “คลองเตยดีจังปีที่ 6” เทศกาลดนตรีและศิลปะที่จัดเป็นประจำทุกปี กลุ่ม “Music Sharing” จึงได้มีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ โดยหยุดการเรียนการสอนดนตรีเอาไว้ก่อนชั่วคราว และเปลี่ยนมาเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือคนในชุมชนแทน ภายใต้โครงการ “คลองเตยดีจัง ปันกันอิ่ม”
แผนโครงการที่ชื่อว่า “โมเดลคลองเตยรอรัฐ” ขึ้นมาผ่านการระดมทุนขอรับบริจาคสิ่งของหรือเงินทุนรวมไป ถึงจัดตั้งระบบอาสาสมัคร เพื่อเข้าไปช่วยเหลือคนในชุมชนโดยเริ่มจากชุมชนเล็ก ๆ คือชุมชนบ้านมั่นคง จนตอนนี้มีชุมชนที่ช่วยเหลือไปแล้วทั้งสิ้น 13 ชุมชน ครอบคลุมประชากร 25,000 คนจาก 26 ชุมชนแออัดในเขตคลองเตย

เด็กในชุมชนจะเข้ามาช่วยทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือพาเดินสำรวจ
ในชุมชนของตัวเอง

คูปอง ปันกันอิ่ม จะแจกตามจำนวนคนในบ้านที่ได้สำรวจไว้
ก่อนหน้านี้แล้ว
ผู้นำชุมชนกำลังประกาศเสียงตามสายให้คนในชุมชนเตรียมตัวอยู่กับบ้านเพื่อรอรับถุงยังชีพ

คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม โมเดลคลองเตยรอรัฐ มีทั้งหมด 5 แผนงาน

ข้อแรกคือการสำรวจข้อมูลชุมชนทำแผนที่เดินดิน เนื่องจากชุมชนไม่มีข้อมูลที่อัพเดทบ้านและทางเดินในชุมชนมีความคับแคบและสลับซับซ้อนอย่างมาก ทางคลองเตยดีจังเลยได้มีการเดินสำรวจ จัดทำแผนที่และรวบรวมข้อมูลครอบครัวของแต่ละบ้านในชุมชนนั้น ๆ ขึ้นมา เพื่อให้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของคนในชุมชนและง่ายต่อการช่วยเหลือในครั้งต่อ ๆ ไปเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นให้กับชุมชน

ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคูปองปันกันอิ่ม แม่ค้าบางร้านเล่าให้ฟังว่าบางครั้งเด็ก ๆ อยากกินข้าวร้านนี้แต่ไม่มีเงิน
พอได้คูปองมาก็ดีใจว่าได้กินแล้ว เลยรีบวิ่งเอามาซื้อ

“อยู่ที่นี่ค่ะ โตในชุมชนนี้บ้านอยู่ต้นซอยแต่ไม่เคยเดินเข้าไปข้างในซอยมาก่อนเลย พึ่งเคยเข้าไปครั้งแรก พอได้เข้าไปแจกข้าวก็ได้เห็นคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน คนที่ป่วยติดเตียง คนที่แก่ คนที่ลำบาก ได้เห็นสิ่งแวดล้อมที่มันแออัดกว่า มีทั้งซอยเล็ก ซอยเล็ก ๆ ซอกเล็ก ๆ ”

คลองเตยดีจังพยายามสร้างอาชีพหารายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ให้คนในชุมชน โดยการรับจ้างตัดผ้า หรือเย็บหน้ากากอนามัย
คนในชุมชนกำลังช่วยกันจัดเตรียมถุงยังชีพเพื่อ
นำออกไปแจกตามบ้าน
คนในกลุ่มคลองเตยดีจังกำลังแจกคูปอง ปันกันอิ่ม และอธิบายวิธีการใช้งานตามบ้านทีละหลัง

ข้อที่สองคือแผนช่วยเหลือขั้นแรกในระยะเร่งด่วน มีการแจกถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น ให้กับคนในชุมชน โดยการแจกถุงยังชีพนั้นบ้านทุกหลังจะต้องมีสิทธิได้รับอย่างทั่วถึง โดย เฉพาะบ้านที่ไม่มีทะเบียนบ้านและกลุ่มห้องเช่าที่ถึงเเม้มีเลขที่บ้าน แต่หนึ่งบ้านเลขที่ก็ถูกแบ่งย่อยเป็นสิบยี่สิบห้อง ซึ่งโดยปกติแล้วจะถูกเหมารวมการช่วยเหลือเป็นหนึ่งสิทธิ ทั้งที่จริงอยู่กัน ถึงยี่สิบครอบครัว จึงได้ใช้วิธีการให้ผู้นำชุมชนช่วยในการเดินแจก เพราะคุ้นชินกับเส้นทางเเละ รู้จักคนในชุมชนได้ดีที่สุด

“ยายอยู่ได้ไม่ได้ เดือดร้อน อาศัยอยู่กับลูกชายสองคน เวลาได้คูปองได้ของมาก็จะให้เพื่อนบ้าน ถ้ามีอะไรก็จะให้เพื่อนบ้านเสมอ ดูว่าถ้าคนไหนไม่มียายก็จะให้”

สภาพบ้านในชุมชนแออัดคลองเตยมีหลายบ้านที่เราจินตนาการแทบไม่ออกว่าอยู่อาศัยกันอย่างไร
คนของกลุ่มคลองเตยดีจัง กำลังตรวจซักประวัติของคนที่เข้ามา
ตรวจหาไวรัสโควิด-19 ที่วัดสะพาน
เด็กที่เป็นลูกของแรงงานเพื่อนบ้านกำลังทำการสะหวอบ (swab) เพื่อนำไปตรวจหา
เชื้อไวรัสโควิด-19
ตั้งแต่เปลี่ยนโรงเชือดหมูเป็นพื้นที่กิจกรรม เด็ก ๆ ในชุมชนก็ใช้เป็นพื้นที่เล่นได้อย่างปลอดภัย
เวลาแพ็คถุงยังชีพนอกจากแรงงานจากอาสาสมัครแล้ว ยังได้แรงงานจากคนในชุมชนเข้า
มาช่วยเหลือ โดยใช้พื้นที่โรงเรียนที่เคยใช้สอนดนตรีเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่สำหรับช่วยเหลือ
คนในชุมชนแทน

ข้อที่สามคือแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในชุมชน โดยเลือกร้านอาหารในชุมชนและเปลี่ยนเงินบริจาคเป็นคูปอง เพื่อแจกให้คนในชุมชน คนในชุมชนสามารถนำคูปองไปเลือกซื้ออาหารกับร้านค้าในชุมชนที่เข้าร่วม โครงการ ร้านค้าขึ้นเงินกับโครงการผ่านระบบเงินโอนทุกวัน โดยคนในชุมชนสามารถเลือกร้านค้าและเวลาในการรับประทานได้เหมือนกับลูกค้าปกติ เปรียบเสมือนเป็นข้าวกล่องที่ไม่มีวัน หมดอายุ ผู้ให้ยังคงอิ่มใจ คนในชุมชนอิ่มท้อง ร้านค้าก็ขายได้

“ตาจะเอาคูปองไปซื้อที่ร้านยายห้อย เพราะยายห้อยเป็นกันเอง เค้าทำให้ดี ทำสะอาด อร่อย ด้วย ดีกว่าแจกข้าวกล่อง บางทีเค้าแจกข้าวกล่องกันตาก็ไม่ได้ไปเอา เพราะเดินไม่ไหว เอามาก็กินไม่ค่อยได้เพราะฟันไม่มีแล้ว
(ตาพูดจบพร้อมยิ้มให้ดูว่าไม่มีฟันเหลือสักซี่)”

ข้อที่สี่คือแผนควบคุมโรค ในชุมชนแออัดเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการทำ social distancing หากมีผู้ติด เชื้อก็จะเเพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว
คลองเตยดีจังจึงได้หารือกับกรมควบคุมโรคทำแผน ตรวจเชิงรุกนำรถตรวจหาเชื้อโควิด-19 เข้ามาตรวจ ผ่านระบบการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงจาก อสช. (อาสาสมัครชุมชน) ของแต่ละชุมชนที่ถูกฝึกอบรมจากกรมควบคุมโรคก่อนลงพื้นที่คัดกรอง ค้นหากลุ่มเสี่ยง โดยคนในกลุ่มเสี่ยงที่มาตรวจนั้นมาจาก 14 ชุมชนแออัดในตลองเตย ทำการตรวจไปทั้งหมด 273 คน
ซึ่งไม่พบผู้ติดเชื้อ

ข้อที่ห้าคือแผนสร้างอาชีพ พิษของโควิด-19 ที่ทุกคนต้องพักงานกักตัวอยู่
ที่บ้าน แต่ในความเป็นจริงภาระค่าใช้จ่ายมันไม่ได้พักไปด้วย จึงมีแผนสร้างอาชีพขึ้นมาเพื่อสร้างงานให้กับคนหาเช้ากิน ค่ำที่ตกงานในชุมชน เช่น
การรับจ้างตัดผ้าหรือเย็บหน้ากากอนามัย โดยมีการสอนงานให้ก่อน ในช่วงแรกสำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ และการเป็นอาสาสมัครชุมชน(อสช.) โดยภายหลังจาก การคัดกรองค้นหากลุ่มเสี่ยง อสช.ก็ยังคงทำหน้าที่เฝ้าระวังและเป็นผู้กระจายข่าวสาร
ด้านสุขภาพให้กับคนในชุมชนต่อไป

จนถึงตอนนี้ คลองเตยดีจังได้แจกถุงยังชีพไปแล้วจำนวน 5,461 ถุง ใน 13 ชุมชน คิดเป็นบ้าน 4,652 หลัง ครอบคลุม 25,150 คน มี 5 ชุมชนที่ใช้ระบบร้านค้าปันกันอิ่ม และ 43 ร้านค้าใน ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ เเจกคูปองไปแล้วกว่า 24,408 อิ่ม นับตั้งเเต่ปลายเดือนมีนาคม

แม่กับลูกกำลังส่งผ่านกำลังใจให้กันและกันในขณะที่รอตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ว่าจะ มีหน้ากากผ้ากั้นอยู่ก็ตาม