อิสรภาพของจำเลยที่หนึ่ง

“ตอนที่เห็นข่าวพวกเราคุยกันว่าใช่คนเดียวกันไหม” ชายหนุ่มผู้อยู่ในสถานะจำเลยคดีความมั่นคงกล่าวกับผมอย่างกระตือรือร้น 

“เช็คกันจนมั่นใจว่าใช่แน่นอนแล้วก็คุยกันว่าอยากไปเยี่ยม อยากให้กำลังใจ ถ้าพวกผมไปเยี่ยมพี่ว่าจะได้ไหม” เขาหันมาถามผมสีหน้าจริงจัง 

เบื้องหน้าของผมคือชายหนุ่มอายุราวสามสิบกลางสองคน ทั้งสองคือจำเลยคดีความมั่นคงในคดีเดียวกัน หนึ่งในคดีวางระเบิดที่ปรากฏในข่าวเมื่อต้นปีก่อน เป็นทั้งเพื่อนร่วมหมู่บ้านและเพื่อนร่วมชะตากรรมที่ไม่ได้เป็นคนเลือก ในบทสนทนานี้ผมขอแทนเขาทั้งสองว่าจำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สองด้วยความหมายของนัยยะทางการสื่อสารที่ไม่ได้ตรงกับสถานะตามคดีความของพวกเขา 

“ถ้าพวกผมไปจะได้เจอไหมพี่ว่า? อยากไปจริงๆ ตามข่าวกันตลอดตั้งแต่วันนั้น” จำเลยที่สองย้ำเจตนากับผมอีกครั้ง 

ผมเชื่อว่าพวกเขารู้สึกแบบนั้นจริงๆ มันมีเหตุผลให้เชื่อ เมื่อทั้งสองคนคือผู้ที่ได้รับอิสรภาพจากคำพิพากษายกฟ้องของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ  

“เพียงเพราะคำตัดสินที่เข้าทางพวกคุณอย่างเดียวหรือมีอะไรที่มากกว่านั้น” คือคำถามที่ผมถามพวกเขา 

“ไม่ๆ เขา (ผู้พิพากษา) ถามด้วยความสนใจ ถามอย่างละเอียด แม้ว่าพวกผมจะพูด (ไทย) ไม่ชัด เขาก็จะบอกให้เราค่อยๆ เล่าอย่างช้าๆ ให้ใจเย็นๆ และไม่ต้องกลัวอะไร ตอนแรกๆ ก็กลัวเขา ไม่ได้มั่นใจว่าผลจะออกมาเป็นแบบไหน แต่ก็มั่นใจในความบริสุทธิ์ของตัวเองแล้วก็รู้สึกได้ว่าเขาอยากฟังก็เลยเล่าหมด” จำเลยที่ 2 อธิบาย

ตลอดระยะเวลาของการพิจารณาคดีจนถึงตัดสิน พวกเขามีโอกาสเจอผู้พิพากษาคณากร รวมทั้งหมด 12 ครั้ง มันเพียงพอที่จะทำให้เกิดพื้นที่ของความสบายใจ เมื่อผู้พูดรู้ว่ามีคนฟังพวกเขาด้วยความใส่ใจ ผลจะออกมาเป็นอย่างไรอาจไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาให้ความสำคัญในตอนนั้น

เขาเล่าให้ฟังถึงครั้งหนึ่งของการการไต่สวนที่ทำให้พวกเขาต้องร้องไห้ออกมากลางห้องพิจารณาคดี คือการเล่าถึง “กระบวนการซักถาม” ที่อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ ซึ่งเป็นที่มาของการสารภาพของจำเลย โดยรายละเอียดคงไม่เหมาะเท่าไหร่ที่จะเอามาบอกต่อในภาวะบ้านเมืองแบบนี้

“น้ำตาไหลแบบไม่รู้ตัวเลย ผมก็ไหลเขา(จำเลยที่1)ก็ไหล แทบทุกคนที่เล่าเรื่องนี้ในศาล เขาก็บอกให้ใจเย็นๆ เล่ามาให้หมด ก็เลยเล่าไปทั้งหมด” จำเลยที่ 2 ขยายความ มีตัวแทนเจ้าหน้าที่จากศูนย์ซักถามเข้าร่วมฟังการไต่สวนอยู่ด้วย

“ตอนนั้นไม่สนใจใครแล้ว ไม่แน่ใจว่าเขาจะเชื่อหรือคำตัดสินจะออกมาแบบไหน แต่ตอนนั้นแค่รู้สึกว่ามีคนฟังก็อยากจะพูด แล้วผมก็เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตัวเอง” คำบอกเล่าของจำเลยที่ 1  

หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด เป็นผลให้จำเลยในคดีนี้ทั้งหมดได้รับอิสรภาพ สำหรับพวกเขาแล้วยังไม่มีอะไรแน่นอนหากพิจารณาตามแนวทางของการบังคับใช้กฎหมายในสามจังหวัดชายแดนใต้ มันเป็นเรื่องต้องเผื่อใจว่าอาจจะต้องสู้กันไปจนถึงฎีกา ขณะที่สถานะของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงมีส่วนทำให้มูลค่าของทรัพย์สินที่ใช้ประกันตัวสูงกว่าคดีทั่วไป

ในคดีของจำเลยทั้งสองนี้ใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวคือโฉนดที่ดินมูลค่า 500,000 บาทพร้อมด้วยเงินสด 50,000 บาท ศาลจึงอนุญาตให้ประกันตัว แต่ในท้ายที่สุดก็มีผู้ต้องหาบางคนที่ไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาประกันตัวได้จึงต้องอยู่ในเรือนจำจนกว่าจะถูกตัดสินคดี ซึ่งบ่อยครั้งในหลายคดีที่กระบวนการพิจารณาคดีกินระยะเวลาหลายเดือน บางคดีถึงขั้นเป็นปีกว่าจะถูกตัดสิน และมีหลายคดีที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัว  

ช่วงเวลาดังกล่าวหลายครอบครัวขาดเสาหลัก ธุรกิจหรืออาชีพที่ทำอยู่ต้องสะดุด อดีตผู้ต้องหาจำนวนมากไม่สามารถกลับเข้าทำงานที่เดิมหรือตำแหน่งงานเดิมได้อีก ขณะที่หลายครอบครัวต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันตัวชนิดที่ว่าดอกเบี้ยแพงเท่าไหร่ก็ยอมสู้ และอีกหลายครอบครัวโชคร้ายที่ต้องมาล่มสลายเพราะพิษของกฎหมายพิเศษ  

อิสรภาพที่มาพร้อมกับความป่วยไข้คือความจริงที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง บาดแผลทางกายส่วนใหญ่จางหายไปในเวลาไม่นานนัก สวนทางกับบาดแผลภายในที่ต้องอาศัยเวลาและความเข้าใจในการฟื้นฟูกันไปอีกนาน 

ในกรณีจำเลยที่หนึ่ง เขาเล่าว่าช่วงเดือนแรกไม่กล้าออกไปไหน ทุกครั้งที่เห็นเจ้าหน้าที่เขารู้สึกใจสั่น อึดอัดและเครียดอย่างชัดเจน “เป็นอยู่เป็นเดือน ทุกวันนี้ดีขึ้นเหมือนเราจัดการตัวเองได้ดีกว่าเดิม มั่นใจในความบริสุทธิ์ด้วย ผมกลัวอย่างเดียวคือพวก(ทหาร)ที่คลุมหน้ามามิดชิด ถ้าเจออย่างนั้นใจมันสั่นทันทีกลัวเขาจะมาเอาตัวไปสอบ”  

ขณะที่กรณีจำเลยที่สองยืนยันว่าผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ผ่านมายังคงอยู่กับเขา”ยังกลัวๆ อยู่ทุกวันที่เขา(ทหาร)มาเยี่ยมที่บ้าน ไม่กล้าออกไปไหนคนเดียว ยิ่งช่วงแรกไม่ไปไหนเลย พอจะดีขึ้นนิดหน่อยเขาก็พากันมาเยี่ยมเราอีกแล้ว มันไม่ได้รู้สึกปลอดภัย” 

สอดคล้องกับอีกหลายๆ เคสที่ผมมีโอกาสได้ร่วมงานด้วย บางคนคดีความผ่านไปหลายปีแต่เจ้าหน้าที่ยังแวะเวียนมาเยี่ยมที่บ้านอยู่อย่างสม่ำเสมอ ยิ่งหากเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นที่รู้กันว่าอีกไม่นานจะมีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมและถามหาความเชื่อมโยงของเหตุการณ์เหล่านั้น ถี่หรือห่างไม่แน่นอนตามแต่สถานการณ์ในช่วงนั้น บางคนเล่าว่าเจอกันทุกอาทิตย์ช่วงที่เพิ่งมีเหตุเกิดขึ้นในละแวกบ้านของเขา แต่อย่างน้อยคือเดือนละสองครั้งที่พวกเขาจะต้องต้อนรับผู้มาเยือนที่มือถืออาวุธหนักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

มันทำให้ความป่วยไข้ทางจิตใจบานปลายเรื้อรัง

ภายใต้ความช่วยเหลือของหน่วยงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ พวกเขามีโอกาสได้พบนักจิตวิทยา เพื่อสอบถามและให้คำแนะนำถึงแนวทางเยียวยาบาดแผลทางใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ใครบอกกันว่าจะหายไปตามกาลเวลา “อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกเลย ” หนึ่งในจำเลยคดีความมั่นคงพูดพร้อมทอดสายตาเศร้าๆ ของเขามาทางผม 

“พี่ว่าผู้พิพากษาเขาจะโอเคไหม แล้วเขาจะสามารถกลับมาทำงานแบบเดิมได้ไหม”

คำถามจากจำเลยที่หนึ่ง ผมตอบไปตามที่คิดว่าทางกายน่าจะโอเค แต่ทางใจผมไม่แน่ใจนัก พร้อมกับย้อนถามกลับไปจำเลยทั้งสองว่า “แล้วพวกคุณอยากให้เขากลับมาทำงานไหมล่ะ” 

เขาหัวเราะและตอบคำถามของผม “อันนี้พี่ไม่ต้องถามเลย อยากแน่นอน อยากไปเยี่ยมด้วย ยังคิดกันเลยว่าจะเอาอะไรไปเยี่ยมเขาดี ”  

หมายเหตุ เป็นบทสนทนาที่เรียบเรียงเอาเฉพาะใจความสำคัญที่นำเสนอได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคู่สนทนา ซึ่งได้รับอนุญาตจากจำเลยทั้งสองให้นำมาเผยแพร่ได้