อิสราเอล
หลังภาพถ่าย

ความทรงจำข้างหลังภาพถ่ายของแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล

อัลบั้มภาพถ่ายที่ห่อหุ้มด้วยหนังเทียมสีดำเล่มเก่าถูกวางอยู่ใต้ชั้นวางทีวี ภายในอัลบั้มเก่าๆ นี้ก็เต็มไปด้วยภาพถ่ายหลายใบที่บันทึกชีวิตวัยหนุ่มของลุงผมเมื่อครั้งที่เขาต้องไปทำงานในประเทศอิสราเอลเมื่อกว่า 30 ปีก่อน

หลายรูปเมื่อลองผลิกดูจะพบกับลายมือที่ต้องอ่านด้วยสำเนียงอีสาน

ลุงของผม หรือ ประสิทธิ์ แสนคำ คือหนึ่งในแรงงานกว่า 400 คน ที่ออกจากบ้านไปทำงานในประเทศอิสราเอลช่วงปีค.ศ. 1993–1994 และนอกเหนือจากค่าแรงที่เขาได้นำเอากลับมาแล้ว ภาพถ่ายก็คืออีกสิ่งหนึ่งเขานำเอากลับมาบ้านด้วย

ประสิทธิ์คือลูกคนที่แรกจากทั้งหมด 8 คน ของครอบครัวชาวนา ที่หมู่บ้านนาค้อ อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ทำให้ในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นของเขาต้องคอยช่วยเหลืองานแม่ในสวน ในไร่ และก็ต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลน้องอีก 7 คนที่เหลือ

รูปถ่ายก็เป็นเพียงเสี่ยวหนึ่งของชีวิตประสิทธิ์ที่ได้ออกไปงานนอกประเทศเพื่อคอยเลี้ยงดู และช่วยเหลือพี่น้องคนอื่นๆ

ทำไมต้องออกนอกประเทศ?

“สิเฮ็ดนาอย่างเดียวกะพออยู่ แต่มันกะสิเฮ็ดหยังกะเป็นอด ๆ อยาก ๆ”

ลุงสิทธิ์เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำงานต่างประเทศว่าในขณะนั้นมีลูกที่กำลังเรียนอยู่ถึงสามคนที่ต้องดูแล ประจวบเหมาะกับว่าช่วงเวลานั้นในหมู่บ้านมีหลายคนที่ออกไปทำงานต่างประเทศและเห็นว่าชาวบ้านคนอื่นที่ไปทำงานต่างประเทศได้เงินมาจุนเจือครอบครัวมากกว่าตน เมื่อเทียบกับการอยู่บ้านที่สามารถทำนาข้าวได้เพียงอย่างเดียว

และที่เลือกไปอิสราเอลในช่วงนั้นแทนที่จะเป็นประเทศไต้หวัน สิงคโปร์ หรือประเทศบรูไนที่คนในช่วงเวลานั้นนิยมกัน ก็เพราะว่าในตอนนั้นการไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้รายได้มากหากเทียบรายได้เป็นรายเดือน

บ่แม่นว่าอยากไป กะไปได้เด้อ!

แม้ตัดสินใจได้ว่าอยากจะออกไปทำงานเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว แต่สิ่งหนึ่งที่กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ของลุงสิทธิ์ก็คือ “เงิน” ที่ต้องเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทั้งค่าเอเจนซี่ ค่าเครื่องบิน และเงินติดตัว จำนวนทั้งหมด 45,000 บาท เขาได้ไปหยิบยืมเงินก้อนนี้มาจากญาติมิตรกว่า 35,000 บาท
น้องชายอีก 12,000 บท น้องสาวที่ไปทำงานเย็บผ้าในกรุงเทพอีก 3,000 บวกกับเงินเก็บของตัวเองอีก 10,000 บาท รวมทั้งหมดแล้วเขาสามารถหาเงินเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกได้ประมาณ 60,000 บาท

แม้ว่าจะมีเงินครบถ้วน แต่การไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลในยุคนั้นไม่ใช่เพียงแค่เป็นแรงงานเท่านั้นแต่ยังต้องเป็นแรงงานที่มีฝีมือ โดยมีการแบ่งคนตามทักษะช่างที่มีในตอนนั้นแบ่งออกเป็น ช่างปูน และผู้ช่วยช่างปูน

ลุงสิทธิ์เล่าอย่างภูมิใจว่าแม้จะเรียนรู้การฉาบปูนจากการการภูมิพักลักจำ แต่เขาก็สามารถเป็นหนึ่งใน 40 คน ที่สอบผ่านและการรับรองให้เป็นช่างปูนจากผู้คนที่ไปสอบกว่า 200 คน

หลังจากได้รับการรับรองว่าสามารถเป็นทำงานในฐานะช่างปูนได้แล้ว เขายังต้องไปหาเอเจนซี่หรือบริษัทจัดหางานที่จะเป็นสื่อกลางในการพาเขาไปทำงานในต่างแดน ลุงสิทธิ์จึงไปสอบถามที่กรมแรงงานตามคำแนะนำของเพื่อนและได้ตกลงไปกับบริษัทจัดหางานของไทยที่ชื่อว่า “ลูมิอาจ” และตัดสินใจไปทำงานกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่อิสราเอลที่ชื่อว่า “มูลลี่”

หลังจากที่ติดต่อเอเจนซี่ได้เพียงแค่ 1 อาทิตย์ เขาก็ได้รับแจ้งว่าได้งานทำ ลุงจึงได้บอกลาแม่และเมีย โดยเมียยังได้ทิ้งท้ายด้วยความเป็นห่วงไว้ว่า

“ให้ดูแลสุขภาพเด้อ อย่าเชื่อใจคนเด้อ ไปทำงานกะรักษาสุขภาพเจ้าของ”

ลุงสิทธิ์เล่าว่าระยะเวลาในการเดินทางทั้งหมดตั้งแต่ดินแดนหมอแคนจนถึงดินแดนยิวจะเป็นเวลาทั้งหมด 3 วัน และเมื่อได้เดินทางมาถึงก็นอนพักในห้องที่เตรียมไว้ให้คนงาน โดยเป็นเตียง 2 ชั้นขนาดพอดีตัว ห้องขนาด 20 ตารางเมตรที่ต้องใช้ร่วมกันกับอีก  40 คนที่อาศัยอยู่ด้วยกัน

นั่งกระบะ “ไปอิสราเอล “

ในครั้งนี้ลุงเดินทางไปยังประเทศอิสราเอลพร้อมกับแรงงานไทยอีกกว่า 200 คนที่มาจากทั้งในทางภาคเหนือและภาคอีสาน โดยลุงยังได้เรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็น “ คนหัวใจเดียวกัน หัวใจคนหนีจากบ้านคนทุกข์คนยาก ”

การเดินทางของลุงเริ่มจากหมู่บ้านห้วยเสือเต้น ในอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โดยเป็นการเดินทางด้วยปิ๊กอัพของบริษัทจัดหางานที่มารับถึงหน้าบ้าน จากนั้นก็ได้ขึ้นเครื่องบินจากสนามบินดอนเมืองไปต่อเครื่องที่ประเทศโรมาเนีย ก่อนที่จะลงจอดประเทศอิสราเอล และนั่งรถตู้ต่อไปยังจังหวัดไอลัต (Eilat) ที่เป็นจุดหมายของการเดินทาง โดยลุงสิทธิ์บรรยายถึงบรรยกาศข้างทางระหว่างการเดินทางไว้ว่า

“ ไปในทะเลทรายล้วน ๆ เหลียวไปข้างหน้าหนิเป็นไฟบึบ ๆ ว่าแม่นแต่น้ำ ทั่งแท้มีแต่ทรายมีแต่เงาสะท้อน บ่มีต้นไม้ต้นหยังเลย ภูเขาใหญ่ ๆ กะมีแต่ทราย เหลียวเห็นแต่อูฐล่ะหลายคัก ”

อยู่บ่ได้ “กะต้องอยู่”

 ในช่วง 4–5 วันแรกที่มาถึงประเทศอิสราเอล นอกเหนือจากการทำงานที่หนักแล้ว ความรู้สึกคิดถึงคนที่บ้าน อาหารที่บ้าน อารมณ์เหล่านั้นก็ทำให้เขาเครียดจนนอนไม่หลับ แต่ลุงก็ต้องคิดอยู่เสมอว่าไม่สามารถถอดใจยอมแพ้กลับบ้านได้ง่าย ๆ เพราะเงินที่ได้ใช้ไปแล้วในการเดินทางล้วนแล้วแต่เป็นหนี้สินทั้งนั้น ลุงสิทธิ์ย้ำอีกครั้งถึงเหตุผลที่ต้องอยู่ต่อว่า

“ เฮาต้องอยู่เพราะเสียเงินไปหลายคัก เงินกะยืมเพิ่นมาอีก เฮ็ดงานว่าแม่นตลอด 24 ชั่วโมงเอาโลด ยามกลางคืนกะเลิกงาน 5 โมงแลงพู้น”

ลุงของผมเป็นหนึ่งในแรงงานไทยกว่า 400 แรงงานที่ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาสร้างโรงแรมหรูและหมู่บ้านจัดสรรหรูหรากว่า 300 หลังคาเรือน แรงงานถูกจัดให้ไปอยู่ที่โรงแรมที่ทางบริษัทจัดเตรียมเอาไว้ ซึ่งมีกลุ่มแรงงานชาวไทยอยู่ก่อนแล้ว 200 คน รวมทั้งหมดที่เบียดเสียดกันอยู่ในโรงแรมแล้วกว่า 400 คน โดยพวกเขามักจะถูกตัดน้ำหรือตัดไฟอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งนานถึง 10 วันเพราะบริษัทไม่ยอมไปจ่ายค่าไฟ แรงงานหลายคนจึงพยายามเอาตัวรอดด้วยการต่อไฟตรงจากเสาไฟบ้าง หรือการไปอาบน้ำข้างถนนที่ต้องคอยหลบคอยแอบตำรวจที่คอยตรวจตรา โดยลุงย้อนถึงการเอาตัวรอดในช่วงถูกตัดไฟไว้ว่า

“ พอเขาตัดไฟเฮา เฮากะลักใช้ไฟเอา เอาลวดเหล็กขอเอากับสายไฟ เป็นไฟต่อตรง ”

ภาพนี้ถูกถ่ายขึ้นก่อนที่จะเข้าไซต์งานด้วยอากาศที่ร้อนทำให้คนงานมักจะใส่เสื้อกันหนาว 2–3 ชั้น เพื่อให้เหงื่อไหลออกมา และสามารถรักษาความเย็นจากเหงื่อเอาไว้ในตัวได้ อีกทั้ง
“หมวกอีโม่ง ” กลายเป็นหนึ่งในของที่ต้องการกันในหมู่ชาวไทยเพราะพื้นที่งานก่อสร้างในทะเลทรายมักไม่ค่อยจะมีพื้นที่ร่มให้ได้หลบยามร้อน

เขาบอกเลยว่าประเทศเขา “ถ้าไม่โกงอยู่ไม่ได้”

การทำงานของลุงสิทธิ์ในประเทศอิสราเอลที่เริ่มตั้งแต่วันแรกที่เดินทางมาถึง ก็คืองานช่างปูนโดยทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า จนถึง 3–4 ทุ่ม นอกจากงานที่หนักแล้ว คนงานยังต้องคอยรักษาผลประโยชน์ของตนเองด้วยการจดบันทึกชั่วโมงงานของตนเองเอาไว้ เพราะมักจะมีกรณีว่านายจ้างลืมหรือบางครั้งก็ตั้งใจโกง ลุงสิทธิ์ย้ำอีกครั้งว่า

“ ถ้าเฮาทำโอที เฮากะต้องบันทึกเอาไว้ เพราะถ้าบ่เฮ็ด เขากะสิว่าเฮาบ่ได้เฮ็ดงาน เขาบอกมาเลยว่าประเทศเขาถ้าไม่โกงอยู่ไม่ได้ ”

นอกจากงานประจำที่ทำในทุก ๆ วันแล้ว ลุงสิทธิ์ยังพยายามเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อที่อยากจะฟังนายจ้างเข้าใจ ป้องกันการถูกโกง อีกทั้งการรับรู้ภาษายังสามารถให้เขาสามารถไป “ รับจ๊อบ ” หรือการทำงานเสริมได้โดยการทำงานเสริมเป็นการทำในเวลานอกการทำงานเช่น ช่วงเวลาหลัง 5 โมงเย็นที่เลิกงานช่วงวันอาทิตย์ที่เป็นวันหยุดหรือช่วงพักกินข้าวโดยอาศัยการอ่านและท่องจำจากพจนานุกรมที่มีขายที่สนามบินในประเทศอิสราเอล

โดยงานก็มาจากเจ้าของบ้านจัดสรรแต่ละหลังที่ต้องการต่อเติมหรือเปลี่ยนแปลงแบบบ้านของพวกเขาเอง ที่คุยและตกลงกันเองโดยที่นายจ้างเจ้าของโครงการไม่รู้ โดยจะทำตั้งแต่ช่วงเวลาหลังเลิกงานคือประมาณ 5 โมงเย็น โดยพาเพื่อนที่ไปด้วย 2–3 คน หรือถ้างานใหญ่ก็ 10 คน ไปจนถึงเวลา 4–5 ทุ่ม แต่ละเดือนก็จะสามารถทำได้ 3–4 งาน ตกลงกันไว้ว่าจะจ่ายงานละ 10,000 บาท แต่มักจะได้จริงๆ แค่ 3,000–4,000 บาท

“ คั่นทำงานนอกหนิ 2–3 มื้อ ต้องฟ้าวเบิกเงินเลย คั่นเบิกได๋แสดงว่าบ่มีปัญหา แต่คั่นเขายุกยิกแสดงว่านายจ้างเจ้านี้สิมีปัญหาแน่นอน ”

ลุงแนะนำการมองว่านายจ้างคนไหนดูมีแนวโน้มที่จะไม่โกง

แต่นอกจากจะต้องคอยระวังการถูกโกง บางครั้งนายจ้างที่จ้างงานนอกก็จะโกงด้วยการโทรเรียกตำรวจมาจับ เพราะถ้าตำรวจเห็นว่าแรงงานทำงานนอกเหนือจากสัญญาก็จะจับไปส่งให้กับบริษัทและบริษัทก็จะหักเงินเดือน 1 เดือนเต็ม


หลังจากทำงานไปได้ประมาณ 1 ปี ก็มีเจ้าหน้าที่จากกรมแรงงานของไทยเข้าไปดูพื้นที่การทำงาน ลุงสิทธิ์และกลุ่มแรงงานก็ได้เล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ให้ฟังรวมไปถึงเรื่องที่ถูกตัดไฟเดือนละ 10 วัน และเรื่องชั่วโมงการทำงานที่ถูกโกง ลุงสิทธิ์ได้บอกว่าหลังจากที่กรมแรงงานเข้ามาแล้วสภาพความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น ไม่มีชั่วโมงหาย และมีน้ำไฟใช้ตลอด 24 ชั่วโมง

“ไปโคกหามือลิง” กิจกรรมยามว่างของคนอีสานในอิสราเอล

เวลานอกเหนือจากช่วงเวลาทำงานก็มักจะถูกใช้ไปทำ 2 กิจกรรมพักผ่อนย่อนใจหลัก ๆ คือการไปเที่ยวทะเลแดง และการไปเดินเที่ยวภูเขา

หายาหาสมุนไพรที่เรียกว่าพญามือลิงเพราะจะช่วยแก้อาการปวดหลังปวดเอว การหาสมุนไพรในโคกอิสราเอลได้กลายเป็นงานอดิเรก แต่เพราะไม่สามารถหาเจอได้ง่าย ๆ ทำให้ต้องใช้เวลาในการเดินหากว่า2 ชั่วโมง


“มันเป็นต้นใบสร้อย ๆ ยามถืกน้ำมันกะเหยียดออกคิงมิง”

ลุงสิทธิ์เล่าว่าเขาได้รู้จักต้นพญามือลิงมาจากคนงานคนไทยที่ไปทำงานรุ่นก่อนหน้าเขา

“พญามือลิงนี้ที่ไทยไม่มี เรารู้ได้จากคนงานรุ่นก่อนที่บอกเอาไว้ พอเอามาต้มแล้วจะเป็นน้ำสีแดงต้นมีลักษณะเป็นพุ่มเท่าฝ่ามือแง้มขึ้นมาจากดินเอามาต้มกินตอนเช้าใส่กระติกไปกินในระหว่างการทำงานด้วย ถ้ากินก่อนนอนจะช่วยให้นอนหลับสบาย”

พญามือลิงได้กลายเป็นน้ำสมุนไพรยอดนิยมสำหรับแรงงานไทยในอิสราเอล

ไปทะเลแดง

การไปเที่ยวทะเลนอกเหนือจากจะเป็นการพักผ่อนหย่อนใจแล้วยัง ลุงสิทธิ์ยังได้เล่าว่าสามารถทำให้ท้องอิ่มได้อีกด้วย โดยการหาปลาหาหอยมาตามชายหาด เพื่อมาทำอาหารกินเอง เพราะเบื่อหน่ายกับรสชาติอาหารอิสราเอลที่ไม่ถูกปาก

ลุงกำลังใช้เกียงฉาบหรือหนึ่งในอุปกรณ์ที่ใช้ฉาบปูน มาเพื่อเซาะหอยออกจากซอกหิน

“ ถ้ามื้อได๋โชคดีแฮง น้ำทะเลมันสิซัดปลาเข้ามาในฝั่งให้เลย ได้หลายบักคัก กองอากลากเอาโลด ปลาโต๋เท่าข้อมือ เป็นปลาขาวน้อยส่วนหลาย พอเฮาได้ปลามาแล้วกะเอาปลามาตากแห้งหรือว่าลาบกินกะได้ ”

ลุงเล่าถึงการไปหาปลาทะเลเพื่อมากิน

“ บางมื้อมันกะงามอีหลีเดะ บางมื้อมันเป็นสีแดงเข้มเลย บางมื้อมีปลาวาฬเข้ามาให้คนไปเบิ่ง”

ลุงบรรยายถึงความงดงามของทะเลแดง

1 ปี 6 เดือน

การไปทำงานในต่างประเทศหากพบเจอผู้คนที่มาจากประเทศเดียวกันก็มักจะมีแนวโน้มที่จะคุ้นเคยกันได้รวดเร็วเช่นเดียวกันกับลุงของผมที่แม้จะไปทำงานในด้านก่อสร้างแต่ก็ได้รู้จักกับคนอีสานคนอื่น ๆ ที่ทำงานในแปลงผัก

เมื่อหมดสัญญาจ้างงาน 1 ปี 6 เดือนแล้ว ลุงก็เดินทางกลับมายังบ้านเกิดโดยมีความคิดว่าอยากจะกลับไปทำงานที่อิสราเอลอีก

แต่เมื่อไปสมัครอีกครั้งก็พบว่าอายุของลุงนั้นเกินคุณสมบัติที่ทางกรมแรงงานกำหนดไว้แล้ว

และเมื่อผมถามว่า คุ้มไหมที่เราลงทุน ลงแรง ลงเวลา เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำงานต่างแดน 

ลุงสิทธิ์ก็บอกว่า

“ คุ้มตั๋วเนาะ ได้เงินมาเฮ็ดนา ซ่อมบ้านส่งลูกเรียนจบตั้ง 3 คน “

รูปนี้คือเพื่อน ๆ คนไทยที่ลุงได้รู้จักและกลายเป็นมิตรสหายกันในระหว่างการทำงานที่ประเทศอิสราเอล