เชียงของ

รอยพญานาคใต้เส้นทางมังกร

โดย ธีระพงษ์ สีทาโส

ชายหนุ่มนั่งสูบยาเส้นมองเพื่อนที่กำลังรวบรวมปลาที่จับได้ตลอดคืนขึ้นมาชั่งกิโล

6 โมงเย็น ถึง 6 โมงเช้า เป็นเวลา 12 ชั่วโมงที่ใช้ในการออกหาปลาตลอดคืน

10 รอบ คือจำนวนครั้งที่ออกเรือ

30 นาที คือเวลาที่ใช้ต่อรอบ

4 กิโลกรัม คือน้ำหนักรวมของปลาบนตราชั่งที่หามาตลอดคืน

บนเนินดินริมน้ำโขง เวลา 6 โมงเช้า ชายหนุ่มสองคนกำลังนำปลาที่ได้จากการวางตาข่ายดักปลากลางแม่น้ำหรือที่คนหาปลาเรียกกันว่า”ไหลมอง” ด้วยการพาเรือเข้าไปที่ร่องน้ำกลางลำน้ำโขง แล้วค่อยๆปล่อยมองความยาวหลายเมตรลงบนผืนน้ำ พร้อมกับพาเรือและมองไหลขนานเข้าฝั่งตามความชำนาญของคนหาปลาแต่ละคน ก่อนที่จะเก็บมองขึ้นมาพร้อมกับปลาชนิดต่างๆ ที่ติดขึ้นมาด้วย

“ ปลาเนื้ออ่อนพวกนี้ได้กิโลฯละ 300 บาท ส่วนใหญ่ก็มีคนโทรมาจอง บ้างเอาไปทำกินในครอบครัว หรือไม่ก็ส่งร้านอาหารแถวหาดไคร้ไปเป็นเมนูปลาแม่น้ำโขงให้นักท่องเที่ยวต่างถิ่น แต่ถ้าได้เยอะกว่านี้พวกผมก็ไว้กินเองบ้าง ตอนนี้ปลาราคาดีก็จริงแต่หายากขึ้นทุกวัน ขนาดวันนี้หากันทั้งคืนยังได้แค่ไม่กี่ตัวมันเป็นแค่งานเสริมพี่ จะมาทำเป็นอาชีพหลักเหมือนรุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่ได้หรอก แล้วพอดีมันมีโควิดพวกผมเลยต้องกลับมาบ้าน มันยังไม่มีอะไรทำ ก็กลับมาหาปลาไปพลางๆก่อน ถ้ามีงานทำสวนทำไร่ งานก่อสร้างรับเหมาก็ไปทำอันนั้นเป็นหลักดีกว่า ”

คนหนุ่มทั้งสองบอกกับเรา หลังวางหูโทรศัพท์จากลูกค้าที่โทรมาจองปลาที่ได้ในวันนี้ ก่อนจะนำปลาที่ได้ใส่กระสอบชั่งกิโล กดเครื่องคิดเลขในมือถือคำนวณรายได้เพื่อแบ่งกันคนละครึ่ง

ตั้งแต่เช้ามืดจนถึงบ่ายที่เราเฝ้าดูการออกหาปลาของชาวบ้านที่หมู่บ้านปากอิงใต้ ที่ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านทำประมงที่สำคัญในอำเภอเชียงของ เพื่อหวังจะได้เห็นปลาขนาดใหญ่ถูกจับขึ้นมาตามภาพจำที่เคยเห็นในสื่อ

แต่ไม่เป็นเช่นนั้น หลายคนที่ออกเรือไปในแต่ละรอบแทบไม่มีปลากลับขึ้นมา

“ ปลามันงงมันสับสน ไอ้เราคนหาปลาก็งง เช้าน้ำลดเย็นน้ำขึ้น เย็นน้ำขึ้นเช้าน้ำลด บางทีจีนมันปล่อยน้ำมาเพื่อให้เรือสินค้าใหญ่ล่องได้ ปล่อยน้ำมาแบบไม่บอกไม่กล่าว มันเดาอะไรไม่ได้ โน่นบางทีเรือเอย อุปกรณ์เอยที่วางไว้ก็ลอยไปกับน้ำก็มีเก็บไม่ทัน เป็นแบบนี้มานานแล้ว ”

พี่ดำคนหาปลารุ่นเก๋าแห่งบ้านปากอิงใต้  เล่าถึงวิถีการหาปลาแม่น้ำโขงในปัจจุบันให้ฟัง ขณะนั่งในเพิงพักชั่วคราวบนตลิ่งริมโขง เพื่อรอคิวออกเรือรอบต่อไป พี่ดำเป็นเพียงไม่กี่คนในบ้านปากอิงใต้ ที่ยังคงยึดการหาปลาเป็นอาชีพหลักอยู่

 

ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน”

น่าจะเป็นประโยคสะท้อนปัญหาในแม่น้ำโขงตอนนี้ได้ชัดเจนที่สุด

“ปลาบึกธรรมชาติเหรอ มันหายไปนานแล้ว โน่นเหลือแต่รูปปั้น(หัวเราะ) กับที่ทางประมงเขาเพราะพันธุ์ไว้ ส่วนปลาใหญ่นี่ก็นานๆ จะหาได้ที หาปลาทุกวันนี้ใช้ฝีมืออย่างเดียวไม่พอนะ ต้องใช้โชคด้วย อย่างวันนี้พี่ออกไปสามรอบแล้วยังไม่ได้ เลยนั่งพักดีกว่าดวงยังไม่มา”

พี่ดำกล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงติดตลกสวนทางกับสีหน้าแววตา หลังเราถามถึง “ปลาบึก”และปลาขนาดใหญ่สัญลักษณ์ภาพจำของลุ่มน้ำโขง

เชียงของอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย คือหนึ่งในพื้นที่ที่ติดแม่น้ำโขง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ต้นน้ำโขงของไทย โดยมีช่วงกลางน้ำและปลายน้ำอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานและสิ้นสุดที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนไหลออกสู่ฝั่ง สปป.ลาว

คนเชียงของเคยใช้แม่น้ำโขงเป็นแหล่งหาอยู่หากิน ทั้งการหาปลา ทำเกษตรริมน้ำ การท่องเที่ยงเชิงนิเวศและวัฒนธรรม ประกอบกับภาพโรแมนติคของเหล่านักท่องเที่ยวแบ็คแพ็คเกอร์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในฐานะเมืองที่เชื่อมต่อไปสู่หลวงพระบางผ่านการล่องเรือข้ามแม่น้ำโขง ซึ่งในตอนนี้ภาพที่เราเห็นมันต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

“เชียงของไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว มันงง ๆ ไปหมด เหมือนเมืองที่ยังสร้างไม่เสร็จ”

พี่บี คนเชียงของเจ้าของร้านกาแฟกึ่งบาร์สไตล์อเมริกันที่เปิดมาได้ 6 ปี หลังจากออกจากงานประจำในกรุงเทพแล้วใช้เงินเก็บมาเปิดร้านที่บ้านเกิด นั่งคุยกับเราด้วยท่าทีจริงจัง

“เมื่อก่อนใครจะไปหลวงพระบาง ก็ต้องมาพักมาดื่มกินที่เชียงของก่อน แล้วค่อยข้ามไป ที่นี่มันเลยคึกคักบรรยากาศใกล้เคียงกับหลวงพระบางด้วยซ้ำ แต่พอมีสะพานเกิดขึ้น(สะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่4) นั่นแหละมันเปลี่ยนเชียงของไปเลย จากนักท่องเที่ยวยุโรปอเมริกา ก็กลายเป็นนักท่องเที่ยวจีน จากที่ต้องมาพักมาดื่มกินชิมบรรยากาศ ก็กลายเป็นมาเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ มากันเยอะ มากันง่าย แต่พวกเราแทบไม่ได้อะไรเลย”

“ตอนสร้างสะพานเขาบอกว่านอกจากจะไว้ขนส่งสินค้าและเดินทาง ที่นี่จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้พ่อค้าแม่ค้ามาขายของบริเวณสะพานด้วย แต่ตอนนี้ไปดูสิเอาลวดหนามมากั้น ห้ามคนเชียงของไปใช้พื้นที่ใต้สะพาน กลายเป็นสะพานแห้งๆที่เอาไว้ใช้ขนตู้คอนเทนเนอร์ก็แค่นั้น มันไม่มีชีวิต”

รัฐบาลยุค คสช. ประกาศให้เชียงของเป็นเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ กลายเป็นเมืองโลจิสติกส์ เชื่อมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ระหว่างไทย ลาว และจีน ผ่านเส้นทางถนนมิตรภาพ R3A โดยถนนลากยาวจากแคว้นสิบสองปันนา มณฑลคุนหมิงในจีน ตัดเข้าสู่ สปป.ลาว ที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว และสิ้นสุดที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

ถนนเส้นนี้ถูกวางให้เป็นเส้นทางคมนาคมและขนส่งสินค้าสำคัญ จนเป็นที่มาของ โครงการเมืองใหม่เชียงของ 1 เมือง 2 แบบ ที่เป็นนโยบายท้องถิ่นเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แบบหนึ่งคือเมืองใหม่รองรับเศรษฐกิจ อีกแบบหนึ่งคือเมืองเก่าที่รักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว  

แต่ภาพที่เราเห็นตรงหน้าคือ “เมืองที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง” กับเมืองใหม่สภาพร้างที่เต็มไปด้วยห้องว่างและป้ายประกาศเซ้งขายรอบพื้นที่สะพานมิตรภาพ อาจเนื่องมาจากผลกระทบของสถานการณ์โควิดและนโยบายการจัดการพื้นที่

“กระทบแน่นอน บางอย่างก็ไม่รู้สร้างไปทำไม บางโครงการเราคนพื้นที่ก็ไม่รู้รายละเอียดไม่มีส่วนร่วม เขาไม่ถามพวกเราสักคำเวลาจะทำอะไร เห็นอีกทีก็สร้างแล้ว แล้วก็ค้างคาอยู่อย่างนี้ บางที่สร้างเสร็จก็มีปัญหาเรื่องสัญญาจ้าง ใช้การไม่ได้ปล่อยร้างไป ”

พี่บีเล่าให้เราฟัง เมื่อถามถึงผลกระทบจากโครงการต่างๆ ในพื้นที่ ก่อนที่เราจะขอตัวไปค้นหาภาพปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างบทสนทนา

“เขาบอกว่ามันเป็นปลาบึก แต่มันเหมือนซะที่ไหน (หัวเราะ) เหมือนตัวอะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่าเขาสร้างมาทำไมเหมือนกัน กลางคืนพวกเด็กวัยรุ่นก็แอบขึ้นไปมั่วสุมกันอยู่บนนั้น”

กลุ่มชายสูงวัยที่นั่งรวมตัวกันบริเวณหาดไคร้ ชี้ไปยังอาคารรูปปลาบึกริมโขงที่สร้างใหม่เพื่อการท่องเที่ยว

นี่คือส่วนหนึ่งจากการลงไปเป็นผู้สังเกตการณ์และรับฟังบทสนทนา รับรู้ความรู้สึกผ่านภาพและน้ำเสียงของผู้คนธรรมดาในพื้นที่เชียงของในเวลาอันสั้น ว่าเขาเหล่านั้นเห็นอะไร รู้สึกอย่างไร ได้รับผลกระทบอะไรในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปะติดปะต่อกับภาพที่ถูกถ่ายผ่านสายตาของคนนอก

เชียงของที่กลายเป็นเมืองร่างทรงทางเศรษฐกิจ

เชียงของที่กลายเป็น “Land of Containers”

เแม่น้ำโขงกลายเป็นเพียงท่อส่งน้ำขนาดใหญ่สำหรับขนสินค้า เพื่อแลกกับผลประโยชน์และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสองประเทศ

โดยไม่พูดถึงชีวิตผู้คนในพื้นที่ มองข้ามทรัพยากรธรรมชาติและคุณค่าของเชียงของในมิติต่างๆ บนเอกสารการพัฒนา

และเมื่อออกจากภาพใหญ่เชิงนโยบายกลับมาที่ตัวเอง จึงเกิดคำถามขึ้นว่า สรุปแล้วเชียงของและแม่น้ำโขงนั้นเป็นของใครกันแน่ และใครที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางความเป็นไปของแม่น้ำโขง ข้าราชการท้องถิ่น คนในพื้นที่ รัฐบาลไทย รัฐบาลจีน …

ขณะที่คนเมืองที่ชีวิตห่างไกลจากการพึ่งพิงสายน้ำอย่างพวกเรา นั้นอยู่ตรงไหนและทำอะไรได้บ้างกับปัญหาครั้งใหญ่ของแม่น้ำโขงที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นอนาคต

ผู้เขียนจึงหวังว่าชุดภาพถ่ายเล็กๆ นี้ จะชวนให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมสำรวจแง่มุม ความจริง ความคิด ความเป็นไป และความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับพื้นที่แห่งนี้ไปด้วยกัน

หนึ่งในความเชื่อของคนเก่าแก่ เมื่อพูดถึงแม่น้ำโขงจะนึกถึง “พญานาค” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักษ์ดูแลรักษาแม่น้ำ ให้น้ำท่า ความสมบูรณ์และชีวิตผู้คนในแถบนี้ได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข การมีร่องรอยการเลื้อยของพญานาคผ่านพื้นที่ของตนคือการนำมาซึ่งโชคลาภ แต่ร่องรอยที่คล้ายรอยพญานาคที่เลี้อยผ่านเมืองเชียงของ

ในตอนนี้เราเองก็ไม่แน่ใจ ว่าแท้จริงแล้วมันคือรอยพญานาคหรือรอยมังกร

รอยที่มาพร้อมโชคลาภความเจริญหรือความทุกข์และการสูญเสียกันแน่