Dancing Girls

“ดนตรีนั้นคือชีวิต จังหวะคอยลิขิตให้ชีวิตก้าวไป แสงสี ที่สวยสดใส นั้นเป็นจิตใจที่สดใสเสรี เสียงปรบมือ คือกำลังใจ ให้ต่อสู้ไปอย่าได้ถอยหนี ความภาคภูมิใจที่มี เกียรติยศศักดิ์ศรี…จาก…พวงมาลัย” ทุก ๆ คนคงเคยจะได้ยินกันบ่อยครั้งกับเนื้อร้องของเพลง “หางเครื่อง” ที่ผมยังจำได้ดีในวัยเด็ก เมื่อได้ยินหรือฟังเพลงนี้ทีไรทำให้ผมต้องขยับร่างกายตามจังหวะของเสียงเพลงหรือร้องตามเนื้อเพลงที่ได้ยินซะทุกครั้งไป แล้วยิ่งทำให้นึกถึงวันเก่า ๆ ของบทเพลงลูกทุ่งสมัยก่อน

“หางเครื่อง” ในความคิดของผมสมัยเด็กๆ ที่ผมเฝ้ามองดูบนหน้าจอทีวี และตามเวทีดนตรีลูกทุ่งต่าง ๆ ผมเฝ้ามองดูพวกเธอทุกครั้ง ในใจผมก็คิดว่า…พวกเธอช่างเป็นคนที่สวย น่ารัก จนไม่อยากจะละสายตาในทุก ๆ ครั้งที่มอง บางครั้ง…มันก็ทำให้หัวใจดวงน้อย ๆ ของผม ต้องสั่นไหว กับการแต่งตัวในชุดหางเครื่องของเธอ ไม่ว่าจะเป็นลีลาหรือท่าทาง ที่พวกเธอได้วาดลวดลายอยู่บนเวที และในบางครั้งอีกนั่นแหละพวกเธอก็ดูช่างห่างไกลและเหมือนกับนางฟ้าที่งดงาม โดยไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้พูดคุย และได้สัมผัสชีวิตเบื้องลึกหรือเบื้องหลังของพวกเธออย่างเต็มที่

แต่ก็ไม่รู้ว่าเหตุใดทำให้ผมมาเจอกับเธอ “มะเหมี่ยว” หรือที่หลายๆ คนเรียกเธอว่า “เหมี่ยว” ถ้าสนิทกันหน่อยก็เรียก “ไอ้เหมียว” มะเหมี่ยวเธอเป็นรุ่นน้องในบริษัทผม  เธอเป็นที่เด็กน่ารัก หยุกหยิก อยู่ไม่นิ่งตลอดเวลา ทุกครั้งที่เธอเดินไปไหนก็มักจะมีสายตา หลายๆ คู่แอบมองหรือจ้องมองมาที่เธอ ด้วยความที่เธอเป็นคนที่มีผิวพรรณขาวสะอาดน่ามอง และน่าตาค่อนข้างน่ารัก เป็นคนที่มีอัธยาศัยดี จึงทำให้ “มะเหมี่ยว” เป็นน้องใหม่ในบริษัทที่มีคนรู้จักเยอะ อีกทั้งเธอยังเป็นคนในพื้นที่ ที่ผมไปทำงานอยู่ ยิ่งทำให้เธอเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ผมได้คุยกับเธอบ้างเป็นบางครั้ง เพราะเราไม่ได้ทำงานส่วนงานที่เกี่ยวข้องกัน  เธอทำหน้าที่ในส่วนงานของ  ฝ่ายบุคคล ดูแลเรื่องอุปกรณ์สำนักงานและเครื่องเขียนต่างๆ แต่ก็ยังมีหลายคนพูดถึงเธอให้ผมฟังอย่างหนาหู ว่า..เธอทำงานเป็น “โคโยตี้” ผมก็ได้แต่ฟังๆ มา  ไม่ได้คิดจะใส่ใจอะไร  ได้แต่คิดในใจว่าน้องเขาคงทำงานแบบ “โคโยตี้” ที่เต้นตามงานโชว์เครื่องเสียงบนหลังรถกระบะ  ซึ่งปรากฏให้เราดูได้ตามคลิป หรือ วีดีโอ บนสื่อ Internet พอได้เริ่มพูดคุยกับเธอจริงๆ จัง ๆ ก็เลยมีโอกาสได้ตามไปดูงานที่เธอทำ หลังเวลาเลิกงานตามที่เขาเคยลือกันว่าเธอเป็น “โคโยตี้”  ซึ่งอันที่จริง แล้วก็คือ การเต้นเป็นหางเครื่องของวงดนตรีลูกทุ่ง ตามงานเลี้ยงต่างๆ นั่นเอง อาจจะผิดจากสมัยก่อนที่ตอนผมยังเป็นเด็กก็เพียงแต่ว่า ลีลาท่าทาง และชุดที่เธอใส่มันช่างล่อตาล่อใจ เหล่าผู้ชายที่เข้ามาดูการแสดงของเธอ นั่นเอง

หลังจากได้ตามไปถ่ายและสัมผัสถึงชีวิตของพวกเธอในมุมต่างๆ ผมก็ได้เข้าใจมากขึ้นกับวิถีชีวิตของเธอและพวกเพื่อนๆ ภายในวงมากขึ้น หลายๆ ครั้งที่ผมเห็นค่าตอบแทนที่ทางวงให้อาจจะไม่ใช่รายได้หลักที่เธอต้องการ และก็ไม่น่าจะใช่เงินจากทิปที่บรรดาชายหนุ่มกลัดมันหยิบยื่นให้เธอ แต่มันคือสิ่งใดกันที่ผลักดันพวกเธอให้เข้ามาทำในสิ่งที่หลายๆ คนมองว่าเป็นงาน “เต้นกินรำกิน”

เธอบอกกับผม “ว่างานแบบนี้มันไม่แน่นอนหรอกพี่นานๆ จะมีสักทีช่วงก่อนเข้าพรรษานี่เยอะหน่อย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นช่วงเย็น เสาร์อาทิตย์ บางเดือนทุกอาทิตย์ ถ้าเข้าพรรษาแล้วก็แทบจะไม่มีเลย” และผมก็ได้มาเข้าใจอีกว่าเพราะอะไรเมื่อถามว่าทำไมถึงต้องมาเต้นทั้งๆ ที่ก็มีงานประจำอยู่แล้ว  “ที่จริงแล้วมาเต้นอยู่นี่ก็เพราะรักในการเต้น เพราะเมื่อไหร่ที่หนูได้เต้น ก็จะเหมือนเป็นคนอีกคนหนึ่ง ได้ปลดปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง และเหมือนกับ ทุกๆ อย่างอยู่ในการควบคุมของเธอ อีกทั้งเพื่อนๆ ที่เต้นอยู่ด้วยกันนี่ก็สนิทและรักกันมาก” ผมก็เลยถามถึงครอบครัวบ้างว่าคิดไง “ก็ไม่มีอะไรนะพี่แฟนเข้าใจ บางครั้งยังตามไปด้วยเลย เค้ารู้ว่าเราทำงาน บางทีก็เอาลูกไปบ้าง เพื่อนๆ ชอบนะ” 

ลูกเธอในที่นี้คือน้องไปไบร์ท ผมเคยได้เล่นกับน้องบ้าง น้องเป็นเด็กน่ารัก ร่าเริง แต่จะมีงอแงบ้างบางครั้ง ถ้างานไหนเลิกดึกมากๆ  “งานแบบนี้เต้นเสร็จแล้วก็จบกัน จะมีบ้างบางครั้งอาจจะติดตามกันหลังเลิกงาน แต่เราจะไม่ยุ่งไม่สานสัมพันธ์ เพราะปัญหาจะตามมา และเราต้องเต้นแบบนี้อีกหลายที่ คงไม่ดีแน่ถ้ามีเรื่องปัญหาแบบนั้น” แล้วถ้าเขาจะเข้ามาจีบ เราส่วนมากจะมายังไง “ถ้าจะมาจีบ ก็จะเข้าขอเบอร์ก่อน แต่เราจะไม่ให้เบอร์เรา เราจะหาวิธีแก้โดยการให้เบอร์วงไป แค่นั้นก็จบ” เธอพูดไปพร้อมกับหัวเราะ

ผมถามต่อไปว่าเคยคิดจะเลิกเต้นไหม  “ตอนนี้ก็คิดอยู่ เพราะเราก็อายุก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อยากให้เด็กๆ รุ่นใหม่ก้าวขึ้นมา ได้มีพื้นที่ในการแสดงออกบ้าง ดีกว่าให้พวกเค้าไปทำอย่างอื่น เพราะเราก็เคยผ่านหัวเลี้ยวหัวต่อมา ก็ได้คำอบรมสั่งจาก พ่อกับแม่ (หมายถึงผู้จัดการวง) คอยดูแลและอบรมสั่งสอนเรา จะมีพลาดพลั้งบ้างก็ ยังถือมีโอกาสกว่าเด็กอีกหลายๆ คน” เธอบอกกับผม หลายๆ ครั้งที่ผมเรียกเธอหางเครื่อง เธอบอกว่าไม่อยากให้เรียกแบบนี้มันดูโบราณ อยากให้เรียกว่า “แดนซ์เซ่อร์” มากกว่า

หลังจากเสร็จงานเต้นทุกครั้ง ทางวงก็จะแบ่งเงินให้ทันที ส่วนเงินค่าทิปก็จะเอามารวมกันแล้วก็หาร ตามจำนวนคนที่ไปเต้นในวัน หรืองานนั้นๆ จากที่เฝ้าสังเกต ดูในช่วงเวลาที่พวกเขาเหล่านั้นขึ้นไปอยู่ บนเวที ช่วงเวลานั้นคือการทำงานที่เต็มที่อย่างมืออาชีพ แม้มันจะเหนื่อยเพียงใดพวกเธอก็ยัง ทำหน้าที่ของอย่างเต็มที่ จนเมื่อถึงเวลาเลิกงาน ความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียจากการเต้นจึงมีให้เห็นบ้าง แต่สิ่งที่ไม่เคยห่างหายไปจากใบหน้าของพวกเธอคือรอยยิ้มและความน่ารัก สนุกสนาน ขี้เล่น ด้วยเหตุนี้มันจึงทำให้ผม ยิ่งอยากนำเรื่องราวของพวกเธอ มาให้คนที่ไม่เคยได้รู้จักหรือเข้าใจพวกเธอ ได้รับรู้และเข้าใจพวกเธอบ้าง แม้คำว่า “หางเครื่อง” จะดูโบราณ และปรับเปลี่ยนคำเรียกขานเป็น “แดนซ์เซ่อร์” แต่ความมีเสน่ห์ ของพวกเธอนั้นไม่เคยจะลดน้อยหรือจางหายไปจากหัวใจของผมเลย