คลองเตยแลนด์

ทางรอดของชุมชนในวันที่รัฐไม่เหลียวแล

คลองเตยมีพื้นที่ทั้งหมด 12.994 ตารางกิโลเมตร มีประชากรทั้งหมด 100,956 คน เป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพที่มีความหลากหลายของอาชีพและวิถีชีวิต คลองเตยถือว่าเป็นสถานที่มืดบอด ไม่มีคนให้ความสนใจแม้แต่หน่วยงานของรัฐบาล ไม่เคยมีหน่วยงานไหนเข้ามาแก้ปัญหาภายในชุมชนอย่างจริงจัง จึงเกิดกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย เพื่อคอยช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องต่าง ๆ

ในช่วงต้นเดือนเมษายนเริ่มพบว่าคนติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนที่มีอาชีพทำงานอยู่ในผับโดนคลัสเตอร์จากผับทองหล่อมาอีกที แต่ทางรัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจในการเข้ามาตรวจหาเชื้อ และด้วยสภาพแวดล้อมของชุมชนที่มีความแออัด บ้านส่วนใหญ่เป็นแค่ห้องเล็ก ๆ อยู่รวมกันหลายคน ทำให้การแพร่กระจายของเชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็ว บางคนรู้ตัวว่าติดเชื้อโทรติดต่อให้โรงพยาบาลมารับไปรักษา ก็ไม่มีโรงพยาบาลไหนยอมรับ สุดท้ายก็ต้องกักตัวอยู่ในบ้านตัวเอง ทำให้คนที่เหลืออยู่ในบ้านติดเชื้อทั้งหมด

ป้าทำอาชีพเก็บของเก่ากำลังยืนอยู่หน้าบ้านตัวเอง ภายในบ้านมีรูปพ่อ แม่ และลูกสาวที่เสียชีวิตไปแล้ว ที่ชุมชนริมคลองสามัคคี

“ทีแรกผัวเค้าติดก่อนนะ โทรไปโรงบาลไหนก็ไม่มีใครมารับ จะออกมาข้างนอกก็ไม่ได้เราอยู่ข้างบ้านก็กลัวไง เค้าเลยต้องอยู่ในบ้าน ตอนนี้ติดกันทั้งบ้านแล้ว”

เสียงจากผู้หญิงวัยกลางคนที่อาศัยอยู่ข้างบ้านของผู้ติดเชื้อโควิด-19

สถานการณ์การแพร่กระจายของโรคระบาดในชุมชนเริ่มเข้าสู่วิกฤติเห็นได้จากการที่ชายในชุมชนคนหนึ่งเลือกที่จะกักตัวอยู่ภายในรถยนต์ของตัวเอง ภายใต้ความร้อนของฤดูร้อน หลังจากกักตัวได้ 3 วัน กลุ่มอาสาสมัครได้ประสานให้โรงพยาบาลมารับไปรักษาได้ในที่สุด 

จึงเกิดแนวคิดขึ้นมาว่าจะแยกผู้ที่ติดเชื้อออกมาจากชุมชนให้ได้เร็วที่สุดเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ ก่อนส่งต่อไปโรงพยาบาล กลุ่มอาสาสมัครจึงประสานทางวัดสะพาน เพื่อขอใช้พื้นที่ทำเป็นศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อ ก่อนที่จะส่งต่อไปโรงพยาบาล และชุมชนพัฒนาใหม่ก็นำแนวคิดนี้ไปทำเองในชุมชน เกิดเป็น “ศูนย์กักตัวผู้ป่วย เพื่อส่งต่อโรงพยาบาล ชุมชนพัฒนาใหม่”

คนในชุมชนล็อค 1-2-3 กำลังรอการขนของบริจาคเพื่อนำไปแจกจ่าย

ด้วยความพยายามประสานงานอย่างหนักของกลุ่มอาสาสมัคร เพื่อให้กรมควบคุมโรคเข้ามาตรวจหาเชื้อภายในชุมชน กว่าการประสานงานจะสำเร็จก็เข้าปลายเดือนเมษายนไปแล้ว ภายหลังตรวจพบผู้ติดเชื้อเกือบ 300 จากทั้งหมด 900 คน ก่อนที่ทางกทม.จะออกมาพูดว่าเป็นการจัดตรวจเชิงรุกของทางกทม.เอง

แม่กำลังใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ววัดให้ลูกสาว ภายหลังจากที่ลูกสาวทั้งสองคนติดเชื้อ ในชุมชนแฟลต 23-24

กทม.ร่วมกับ สปคม. ได้เร่งตรวจหาเชื้อเชิงรุกประชนชาในชุมชนของพื้นที่เขตคลองเตย เมื่อวันอังคารที่ 27 เม.ย. 64”

 จากหน้าเพจเฟซบุ๊ค ผู้ว่าฯอัศวิน

เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายในโซเชียล ทำให้ทุกคนจับจ้องมาที่ชุมชนคลองเตย รัฐบาลจึงเริ่มเคลื่อนไหวโดยการจัดการตรวจเชิงรุกอีกหลายครั้ง ก็พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ บางชุมชนมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 20-30 คนเลยทีเดียว

จนเกิดคลัสเตอร์ตลาดคลองเตย ตรวจพบผู้ติดเชื้อ 300 กว่าคน จากทั้งหมด 500 คน คนงานในตลาดคลองเตยเกือบจะทั้งหมดเป็นแรงงานเพื่อนบ้าน มีทั้งลาว พม่า เขมร อาศัยอยู่ในตึกแถวที่ซอยเป็นห้องเช่าห้องเล็กๆ ชาวพม่าที่เป็นญาติพี่น้องกันจะอาศัยห้องเช่าอยู่ในตึกแถวเดียวกัน มักจะทำอาหารปริมาณมากแล้วตักแบ่งกันเหมือนครัวกลาง ด้วยวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่แออัดนี้ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างรวดเร็ว และยังมีปัญหาเรื่องนายหน้าที่ลักลอบพาแรงงานเข้าประเทศมาอย่างผิดกฎหมาย ด้วยกลัวว่าตัวเองจะมีความผิด จึงไม่ยอมให้แรงงานของตัวเองได้รับการตรวจหาเชื้อ บางคนผลออกมาว่าติดเชื้อ โดนไล่ออกจากที่พักต้องมาอาศัยอยู่บนสะพานลอยก็มี 

กลุ่มอาสาในชุมชนกำลังนำส่งตัวผู้ติดเชื้อไปโรงพยาบาล โดยมีคนคอยฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตามหลัง ชุมชนล็อค 1-2-3

หลังจากเกิดคลัสเตอร์ตลาดคลองเตย รัฐบาลได้สั่งปิดตลาด 14 วัน โดยไม่มีการเยียวยาช่วยเหลืออะไรเลย ซึ่งแรงงานในตลาดคลองเตยทั้งหมดเป็นแรงงานรายวัน เมื่อตลาดปิดทำให้ขาดรายได้ ไม่มีข้าวกิน กลุ่มอาสาสมัครต้องส่งถุงยังชีพ และข้าวกล่องเข้าไปแจกทุกวัน และกำลังจะเริ่มตั้งครัวสนามเพื่อทำอาหารแจกจ่ายในตลาดคลองเตย

“โดนสั่งหยุดงาน 14 วัน จะกลับพม่าก็ไม่ได้ กลับไปก็โดนยิงตาย อยู่นี่ก็ไม่มีเงินไม่มีข้าวกิน”

แรงงานชาวพม่าคนนึง
การอยู่อาศัยของแรงงานเพื่อนบ้าน ในตึกแถวตึกนึงจะซอยถี่ๆเป็นห้องเล็กๆ ภายในห้องนึงก็จะอยู่กัน 3-5 คน ตลาดคลองเตย

กลุ่มอาสาสมัคร “คลองเตยดีจัง” เกิดจากการร่วมระดมเงินและสิ่งของบริจาคจากประชาชน เพื่อส่งไปช่วยคนในชุมชนคลองเตย ที่ผ่านมาทางกลุ่มได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือคนในชุมชนคลองเตยอย่างหนัก ตั้งแต่ตั้งทีมฮอตไลน์สายด่วนเพื่อประสานงานคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้ได้รับความช่วยเหลือ ประสานงานกับทางรัฐบาลให้มีการจัดตรวจหาเชื้อเชิงรุก จัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อก่อนส่งต่อโรงพยาบาล ประสานและสนับสนุนผู้นำชุมชนให้ดูแลลูกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคอยส่งอาหารให้คนที่กำลังกักตัว นำเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วและเครื่องผลิตออกซิเจนไปให้สำหรับคนที่ต้องการเร่งด่วน จัดตั้งครัวสนามในชุมชน สนับสนุนทีมอาสาในชุมชนที่คอยรับส่งผู้ติดเชื้อและพ่นยาฆ่าเชื้อ การสร้างงานให้คนในชุมชน โดยการจ้างคนในชุมชนมาแพ็คถุงยังชีพ จ้างขับรถขนของ ทำความสะอาด ให้ค่าตอบแทนเป็นรายวัน ในตอนนี้ทางกลุ่มได้ช่วยเหลือไปแล้ว 21 ชุมชน มี 8 ชุมชนที่ยังติดตามและช่วยเหลืออยู่เป็นประจำ อย่าลืมว่าทั้งหมดนี้คือกลุ่มอาสาสมัคร ทั้งที่ปกติแล้วควรจะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล งบสองล้านล้านบาทที่กู้มานำไปใช้กับอะไร ทำไมถึงไม่เคยตกถึงมือคนเหล่านี้ หรือเพราะว่าพื้นที่ตรงนี้คือ “คลองเตยแลนด์” ไม่ใช่ “904 แลนด์”

สภาพบ้านของชายคนหนึ่งจะเห็นว่าสภาพบ้านของเค้านั้นเล็กมากจนแทบไม่สามารถนอนตรง ๆ ได้ ชุมชนพัฒนาใหม่

สนใจร่วมสนับสนุนและบริจาค

ได้ที่เพจ