จะทำอย่างไร เมื่อ “สื่อ” กลายเป็นผู้ละเมิด “สิทธิ”

สื่อมวลชนยุคนี้คงคุ้นเคยกับการขับเคี่ยวกันเพื่อนำเสนอข่าวได้อย่างรวดเร็วทันใจผู้อ่าน พร้อมเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจ โดยเฉพาะเมื่อสื่อต่างๆ เปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์ ภารกิจการล่า “ยอดวิว” ย่อมตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ส่งผลให้บรรดาสื่อมวลชนต่างพากันนำเสนอเรื่องราวที่หวือหวา น่าตื่นเต้น เพื่อเรียกคะแนนนิยม และข่าวที่น่าจะเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกเมื่อก็คือ “อาชญากรรม” ที่สื่อมวลชนนำเสนอ ทั้งชะตากรรมอันน่าเศร้าของผู้ถูกกระทำ และด้านมืดหรือพฤติกรรมรุนแรงของผู้ก่อเหตุ ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างล้นหลามจาก “ชาวเน็ต” ซึ่งหมายความว่าข่าวของสำนักข่าวนั้นๆ จะถูกมองเห็นในโลกโซเชียลมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข่าวที่เน้นความตื่นเต้นด้วยด้านมืดและภาพที่น่ากลัว หลายครั้งก็ส่งผลให้สื่อมวลชน ซึ่งน่าจะเป็นฝ่ายพิทักษ์สิทธิของประชาชน กลับกลายเป็นผู้ที่ “ละเมิดสิทธิ” เสียเอง ดังนั้น หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี ประเทศไทย ร่วมกับคณะไอซีที มหาวิทยาลัยศิลปากร และกลุ่มช่างภาพ Realframe จึงชวนเหล่าสื่อมวลชนมาร่วมพูดคุยกันในหัวข้อ “เมื่อ ‘สื่อ’ ละเมิด ‘สิทธิ'” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเวิร์กช็อปการถ่ายภาพ “Shoot it Rights: เล่าเรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านภาพถ่าย”