ในขณะที่เดินอยู่ในตลาดเช้าของแขวงบ่อแก้ว เป็นเรื่องปกติที่จะพบสินค้าจากประเทศไทยและประเทศจีนเนื่องจากบ่อแก้วเป็นเมืองบริเวณชายแดน สินค้าหลากหลายทั้ง ทิชชู่ ผัก เนื้อหมู ปลานานาชนิด และเครื่องอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่จากการเดินจนทั่วตลาดกลับไม่เห็นกล้วยหอมวางอยู่บนแผงร้านค้าไหนเลย แม้ว่ากล้วยหอมจะเป็นสินค้าเกษตรอันดับหนึ่งของแขวงบ่อแก้ว บ่อแก้ว คือหนึ่งใน 3 พื้นที่นอกเหนือจากหลวงน้ำทาและอุดมไซที่มีการปลูกกล้วยมากที่สุด “กล้วยที่นี่ก็ส่งไปที่จีนหมด” ตุ๋ย(ไม่ใช่ชื่อจริง) ชาวลาวอายุ 40 ปี อดีตคนงานในสวนกล้วย การปลูกกล้วยหอมในลาวเริ่มขึ้นตั้งแต่ประมาณช่วงปี ค.ศ. 1990 โดยเริ่มจากนักลงทุนจีนที่มาเปิดร้านขายสินค้านำเข้าจากจีน และเมื่อประมาณปี ค.ศ. 2000 ชาวจีนที่มาเปิดร้านขายของเริ่มลงทุนในการเกษตร โดยเริ่มจากการปลูกกล้วยหอม ซึ่งมีการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่นำเข้ามาจากประเทศจีน หลังจากการเริ่มปลูกในปี ค.ศ. 2000 ความต้องการกล้วยหอมก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จากสถิติของกรมการค้าและอุสาหกรรมของลาวในปี ค.ศ. 2018 คาดว่าการส่งออกกล้วยของลาวไปยังจีนจะเพิ่มจาก 112 ล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2018 เป็น 168 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2019 หลังจากมีข่าวเกี่ยวกับการป่วยของแรงงานในสวนกล้วย จากการใช้สารเคมีจำนวนมากในสวน ในปี ค.ศ. 2017 รัฐบาลลาวจึงได้ออกกฎเพื่อที่จะลดและป้องกันการใช้สารเคมี “ทุนจีนมันก็มีทั้งผลดีและผลร้ายแหละ” ทอย(ไม่ใช่ชื่อจริง) ชาวเมี่ยน อายุ 33 ปี ผู้ปล่อยเช่าที่ดินของเขาให้กับนักลงทุนชาวจีน เขาเล่าต่อว่าที่ดีเพราะปัจจุบันผู้คนสามารถหารายได้มากกว่าที่เคย จากที่เคยได้ 90 บาทต่อวันจากการทำสวนรับจ้างทั่วไป แต่ปัจจุบันได้มากกว่า 300 บาทต่อวัน แต่เขาก็ยังกังวลเรื่องการใช้สารเคมี เขายังเสริมอีกว่ามันทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็ไม่ต้องไปทำงานในประเทศไทยที่ต้องเสี่ยงกับการจับกุมของเจ้าหน้าที่ แม้ว่ารัฐบาลลาวจะได้ออกมาตรการในการควบคุมการขยายของสวนกล้วย แต่ดูเหมือนว่าประชาชนจากประเทศสังคมนิยมได้ลองชิมผลไม้ที่เกิดจากเสรีนิยมใหม่แล้ว และคงเป็นไปได้ยากที่จะย้อนกลับ

ไล (ไม่ใช่ชื่อจริง) อายุ 43 ปี ชาวม้งจากแขวงอุดมไซกำลังนั่งอ่านไบเบิลอยู่ในห้องพักขนาด 2×2 ตารางเมตรของเธอ เธอคือหนึ่งในชาวม้งที่มักจะเป็นแรงงานระยะยาวกลุ่มใหญ่ที่สุดในสวนกล้วยของชาวจีน ด้วยเพราะพวกเขามาจากที่ห่างไกลจากสวนจึงต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในสวน กอน (ไม่ใช่ชื่อจริง) อายุ 43 ปี ชาวม้งจากแขวงอุดมไซ เขาอาศัยและทำงานอยู่ในสวนแห่งนี้มานานกว่า 3 เดือนแล้วแต่เคยทำงานอยู่ในสวนอื่นกว่า 2 ปี ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในสวนกล้วย กับภรรยาและลูกที่อายุ 3 เดือน โดยจะคอยสลับกันดูแลลูก





ที่ดินที่บนภูเขาทั้งลูกถูกไถเพื่อเตรียมสำหรับสวนกล้วยใหม่ที่กำลังจะปลูก ในแขวงบ่อแก้ว เตียม (ไม่ใช่ชื่อจริง) กำลังอุ้มหลานของเธออยู่หน้าสวนกล้วยที่เธอให้ชาวจีนเช่าที่ดินไปเมื่อ 5 ปีก่อนโดยเธอจะได้รับเงินค่าเช่าประมาณ 2,400 บาทต่อไร่ต่อหนึ่งปี บ่อน้ำบริเวณหน้าสวนกล้วยกลายเป็นแหล่งน้ำหลักที่ถูกสูบไปใช้ในสวนกล้วย และในบางกรณีทำให้เกิดความขัดแยังกันระหว่างนักลงทุนชาวจีนและชาวบ้านที่ทำสวนเรื่องการเข้าถึงแหล่งน้ำ






