The Forbidden Fruit

ในขณะที่เดินอยู่ในตลาดเช้าของแขวงบ่อแก้ว เป็นเรื่องปกติที่จะพบสินค้าจากประเทศไทยและประเทศจีนเนื่องจากบ่อแก้วเป็นเมืองบริเวณชายแดน สินค้าหลากหลายทั้ง ทิชชู่ ผัก เนื้อหมู ปลานานาชนิด และเครื่องอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่จากการเดินจนทั่วตลาดกลับไม่เห็นกล้วยหอมวางอยู่บนแผงร้านค้าไหนเลย แม้ว่ากล้วยหอมจะเป็นสินค้าเกษตรอันดับหนึ่งของแขวงบ่อแก้ว บ่อแก้ว คือหนึ่งใน 3 พื้นที่นอกเหนือจากหลวงน้ำทาและอุดมไซที่มีการปลูกกล้วยมากที่สุด “กล้วยที่นี่ก็ส่งไปที่จีนหมด” ตุ๋ย(ไม่ใช่ชื่อจริง) ชาวลาวอายุ 40 ปี อดีตคนงานในสวนกล้วย การปลูกกล้วยหอมในลาวเริ่มขึ้นตั้งแต่ประมาณช่วงปี ค.ศ. 1990 โดยเริ่มจากนักลงทุนจีนที่มาเปิดร้านขายสินค้านำเข้าจากจีน และเมื่อประมาณปี ค.ศ. 2000 ชาวจีนที่มาเปิดร้านขายของเริ่มลงทุนในการเกษตร โดยเริ่มจากการปลูกกล้วยหอม ซึ่งมีการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่นำเข้ามาจากประเทศจีน หลังจากการเริ่มปลูกในปี ค.ศ. 2000 ความต้องการกล้วยหอมก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

รถบรรทุกขนส่งสินค้าบนถนน R3A ที่เชื่อมต่อประเทศลาวไปยังประเทศจีน คือทางเชื่อมต่อหลักที่คอยขนส่งกล้วยจากประเทศลาวไปยังจีน

จากสถิติของกรมการค้าและอุสาหกรรมของลาวในปี ค.ศ. 2018 คาดว่าการส่งออกกล้วยของลาวไปยังจีนจะเพิ่มจาก 112 ล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2018 เป็น 168 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2019 หลังจากมีข่าวเกี่ยวกับการป่วยของแรงงานในสวนกล้วย จากการใช้สารเคมีจำนวนมากในสวน ในปี ค.ศ. 2017 รัฐบาลลาวจึงได้ออกกฎเพื่อที่จะลดและป้องกันการใช้สารเคมี “ทุนจีนมันก็มีทั้งผลดีและผลร้ายแหละ” ทอย(ไม่ใช่ชื่อจริง) ชาวเมี่ยน อายุ 33 ปี ผู้ปล่อยเช่าที่ดินของเขาให้กับนักลงทุนชาวจีน เขาเล่าต่อว่าที่ดีเพราะปัจจุบันผู้คนสามารถหารายได้มากกว่าที่เคย จากที่เคยได้ 90 บาทต่อวันจากการทำสวนรับจ้างทั่วไป แต่ปัจจุบันได้มากกว่า 300 บาทต่อวัน แต่เขาก็ยังกังวลเรื่องการใช้สารเคมี เขายังเสริมอีกว่ามันทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็ไม่ต้องไปทำงานในประเทศไทยที่ต้องเสี่ยงกับการจับกุมของเจ้าหน้าที่ แม้ว่ารัฐบาลลาวจะได้ออกมาตรการในการควบคุมการขยายของสวนกล้วย แต่ดูเหมือนว่าประชาชนจากประเทศสังคมนิยมได้ลองชิมผลไม้ที่เกิดจากเสรีนิยมใหม่แล้ว และคงเป็นไปได้ยากที่จะย้อนกลับ

สวนกล้วยมักจะปลูกในบริเวณพื้นที่สูง ซึ่งจะเป็นการเช่ามาจากชาวบ้านส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงอย่าง เมี่ยน หรือขมุ โดยพื้นที่เหล่านี้เคยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่และเก็บของป่าของชาวบ้าน โดยชาวบ้านจะได้รับค่าเช่าที่ปีละ 5,000 บาทต่อไร่ต่อปีจากนักลงทุนชาวจีน
ต้น (ไม่ใช่ชื่อจริง) อายุ 16 ปี จากเมืองซำเหนือ กำลังซักเสื้อผ้าในลำห้วยบริเวณด้านล่างของสวนกล้วย แรงงานส่วนใหญ่ที่ไปเจอจะต้องอาศัยน้ำจากลำห้วยเหล่านี้เพราะไม่มีน้ำประปาและห้องน้ำ
หนึ่งในแรงงานระยะยาวของสวนกล้วยและเด็กๆที่อาศัยอยู่ในสวนกำลังเล่นมือถือหัวเว่ยที่เขาพึ่งซื้อมาเมื่อ 1 เดือนที่แล้วในราคาประมาณ 3000 บาท
พื้นที่อยู่อาศัยของแรงงานระยะยาวในสวนกล้วย หรือเรียกกันว่า แคมป์คนงาน ผู้อาศัยในแคมป์ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานที่มาจากแขวงอื่นและอยู่ระยะยาวอย่างน้อย 1 หรือ 2 ปี
ป้ายภาษาลาวถูกเขียนไว้ว่า “ขายที่ดิน” อยู่ใกล้ๆบริเวณสวนกล้วยแห่งหนึ่งในแขวงบ่อแก้ว หลังจากนักลงทุนชาวจีนเข้ามาลงทุนในสวนกล้วยมากขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาที่ดินในแขวงบ่อแก้วพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
โม่ง (ไม่ใช่ชื่อจริง) อายุ 43 ปี ยืนมองที่ดินของเขาที่ให้ชาวจีนเช่าไปเมื่อ 2 ปีก่อน โดยเขาปล่อยให้ชาวจีนเช่าทั้งหมด 8 ไร่ ซึ่งทำให้เขาได้เงินทั้งหมดประมาณ 32,000 บาทต่อปี เขาบอกว่าการปล่อยให้เช่าที่ดินสามารถหาเงินได้มากกว่าการที่ทำเกษตรเอง เพราะที่แห่งนี้ยังไม่มีระบบชลประทานที่ดี
กองกระสอบข้าวในร้านอาหารพื้นบ้านแห่งหนึ่งในแขวงบ่อแก้ว เจ้าของร้านบอกเล่าว่าราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นหลังจากมีสวนกล้วยกว่า 70% เพราะพื้นที่เคยปลูกข้าวถูกนำเอาไปให้เช่าเป็นสวนกล้วย
ต้น อายุ 16 ปีชาวม้งจากเมืองซำเหนือ กำลังใช้เคียวกำจัดวัชพืชออก เขาทำงานในสวนกล้วยมาตั้งแต่อายุ 12 ปี แม้ว่าจะอยากไปทำงานในโรงงานที่ประเทศไทยมากกว่าแต่เขาก็ไม่สามารถไปได้เพราะไม่สามารถจ่ายค่าวีซ่าได้
ไพ (ไม่ใช่ชื่อจริง) หญิงชาวม้งอายุ 17 ทำงานในสวนกล้วยมานานกว่า 2 ปีแล้วในฐานะแรงงานระยะยาว เธอตัดสินใจออกจากโรงเรียนในชั้นมัธยม 3 เพราะฐานะทางการเงินและไม่รู้ว่าจะต้องเรียนต่อไปทำไม และเข้ามาทำงานในสวนกล้วยพร้อมกับแม่และน้องชายของเธออีก 2 คน
กองพลาสติกที่ใช้ห่อกล้วยเพื่อกันแมลง รวมไปถึงกล้วยที่ไม่ผ่านมาตฐานของเจ้าของสวน ถูกทิ้งเอาไว้ในสวนเพื่อรอการเผาทิ้ง
แรงงานกำลังสร้างบ้านหลังหนึ่งในแขวงบ่อแก้ว เขาพบว่ามีการสร้างบ้านใหม่ขึ้นหลายหลังเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยรายได้จากการทำงานและปล่อยเช่าที่ดินให้กับชาวจีนที่มาลงทุนสวนกล้วย กลายเป็นหนึ่งในรายได้หลักที่ทำให้ชาวบ้านสามารถนำมาสร้างบ้านหรือปรับปรุงบ้านใหม่ได้
กล่องบรรจุภัณฑ์กล้วยถูกทิ้งเคว้งคว้างเอาไว้ หลังจากสวนถูกปล่อยทิ้งร้างเพราะสวนนี้ไม่ออกผลที่คุ้มทุน นายทุนปล่อยที่ดินทิ้งเอาไว้หลังจากได้ลงทุนไป 4 ปี แม้ว่าจะมีสัญญาทั้งหมด 10 ปี โดยเจ้าของที่ดินหลังจากนายทุนจีนออกไปเขาก็ไม่ได้รับการติดต่ออีกเลย
โมหิ่น อายุ 28 ปี ชาวม้งกำลังเดินขึ้นไปยังสวนกล้วยที่เธอต้องดูแล โดยเธอได้รับมอบหมายให้ดูแลต้นกล้วยทั้งหมดประมาณ 6,000 ต้นกับครอบครัว และต้องทำงานตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น