The Last Castle
By Patipat Janthong
กว่าหนึ่งปีที่ชีวิตเปลี่ยนผ่าน จากบ้านไม้ร่มรื่นริมกำแพง “ป้อมมหากาฬ” ที่ตั้งของชุมชนชานเมืองพระนครแห่งสุดท้าย หลายชีวิตกระจัดกระจายหลังการเข้ามาพัฒนาของรัฐ พื้นที่ชุมชนเก่าแก่ถูกแทนที่ด้วยสวนสาธารณะมูลค่า 69 ล้านบาท“ปีกว่าๆที่ผ่านมาบาดแผลยังคงไม่หาย แต่เราพยายามพูดปลอบใจว่าชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อ” พี่กบ ธวัชชัย วรมหาคุณอดีตประธานชุมชนบอกเล่าความรู้สึกหลังจำยอมต้องย้ายออกจากป้อมมหากาฬพี่กบเกิดในครอบครัวนักดนตรี มีต้นตระกูลเป็นครูวงปี่พาทย์ ตั้งรกรากในพื้นที่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เช่นเดียวกับพื้นที่หน้าบ้านที่เป็นที่ตั้งของวิกลิเกพระยาเพชรปาณี ลิเกโบราณของกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนพื้นที่ดังกล่าวจะถูกรื้อปรับเป็นสวนสาธารณะคงเหลือไว้เพียงแผ่นป้ายบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์
หลังจากการไล่รื้อ ชาวบ้านชุดสุดท้ายบางส่วนย้ายไปเช่าห้องอาศัยอยู่ในชุมชนกัลยาณมิตร ย่านเตาปูน โดยได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายชุมชนที่ร่วมขับเคลื่อนกระบวนการต่อสู้มาด้วยกันจากบ้านไม้สงบเงียบหลังกำแพงมาอยู่ในตึกที่แดดส่องถึงตลอดวันหลายคนต้องปรับตัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุ
นอกจากอากาศที่ร้อนกว่าเดิม ป้าเฮง สมพร อาปะนนท์ วัย 77 ปี ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการต้องเดินทางไปหาหมอที่ไกลกว่าเดิม“แต่ก่อนไปหาหมอโรงพยาบาลกลาง 60 บาท ย้ายมาอยู่นี่ ไป-กลับ 300”
เช่นเดียวกับโอม ด.ช.ชวินธร ทูบทอง จากเดิมที่ใช้เวลา 10 นาทีเดินทางจากบ้านไปยังโรงเรียน หลังจากย้ายมายังที่อยู่ใหม่เขาต้องตื่นเตรียมตัวตั้งแต่ตี 4 เพื่อไปยังโรงเรียนวัดราชบพิธ เนื่องจากเส้นทางที่ไกลขึ้นและการจราจรที่ติดขัด “เราต้องดิ้นรน ขวนขวาย หาโอกาสของเราต่อ ไม่เคยมีการติดต่อมาสอบถามคุณอยู่ได้ไหม มีปัญหาอะไร หรือแม้กระทั่งคนรับปากเราที่เข้ามารับช่วงต่อของอำนาจ เราได้คำตอบว่าไม่มีใคร นอกเหนือจากการดิ้นรนของตัวพวกเราเอง”
หลังการย้ายออกจากป้อมมหากาฬ มีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) เป็นหน่วยงานรัฐเพียงหน่วยงานเดียวที่เข้ามาช่วยเหลือคนในชุมชนด้วยการให้แหล่งเงินกู้และออกแบบแปลนบ้านซึ่งชาวชุมชนป้อมมหากาฬ จำนวน 5 ครอบครัว รวมกลุ่มซื้อที่ดินย่านพุทธมณฑลสาย 2 ปลูกบ้านบนเนื้อที่ 106 ตารางวา โดยใช้วัสดุจากบ้านไม้เดิมที่รื้อเก็บไว้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและต้องการคงลักษณะบ้านไม้เหมือนที่เคยอาศัยอยู่ในอดีตตามความตั้งใจ โดยทั้งหมดต้องเป็นหนี้ระยะยาวครัวเรือนละหลายแสนบาทสำหรับซื้อที่ดินและสร้างบ้านขณะที่ชาวชุมชนป้อมมหากาฬกระจัดกระจายและพยายามหาทางออกของตัวเอง
แผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งมาพร้อมแนวคิดพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแลนด์มาร์กด้านการท่องเที่ยวก็อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล แผนดังกล่าวมีแนวคิดปรับปรุงภูมิทัศน์ทาสีตัวอาคารให้มีลักษณะสีเหมือนกัน โดยอาศัยต้นแบบของถนนฌ็องเซลิเซ่ประเทศฝรั่งเศสแน่นอนไม่มีใครหนีพ้นการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลง วัด วัง อาคารเก่า เป็นสิ่งมีคุณค่าเช่นเดียวกับชีวิตของผู้คนที่อาศัยโดยรอบ พวกเขาที่มีเลือด มีเนื้อ และมีส่วนขับเคลื่อนให้เมืองมีชีวิต
“40-50 ปีที่ผ่านมา ประชาชนเป็นฝ่ายแพ้ให้กับอำนาจรัฐมาโดยตลอด และไม่รู้ว่าการดำเนินการเช่นนี้มันจะอยู่คู่กับการกระทำของรัฐที่มีผลต่อเนื่องกับประชาชนหรือชุมชนยาวนานแค่ไหน ถ้าระบอบประชาธิปไตยจริงคุณต้องเคารพในเรื่องของสิทธิ คุณต้องฟังเสียงประชาชน เปิดโอกาสให้เข้ามาร่วมบูรณาการ แต่สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่แค่หาย แต่มันตายไปจากสังคม คุณเคยไปศึกษาไหมว่าทุกครั้งที่เกิดการกระทำ มันเต็มไปด้วยคราบน้ำตา นี่คือประสบการณ์ชีวิตที่สำคัญ และภาวนาว่าอย่าให้มันมีครั้งต่อไป ไม่งั้นลูกหลานเราจะอยู่ยากขึ้น”ธวัชชัย วรมหาคุณ ชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬ