DROWNED
DREAMS

โดย วิศรุต แสนคำ

“ทรุด แตก”

สองคำนี้คือคำที่ใช้อธิบายเหตุการณ์ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2018 ที่เกิดขึ้นกับเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย ในแขวงอัตปือ สปป.ลาว โดยคำแรกมักจะใช้ในสื่อเพื่ออธิบายเหตุการณ์วันนั้น และคำที่สองคือคำที่ชาวบ้านที่ได้รับผล กระทบเรียก แม้ว่าการพังของเขื่อนนี้จะสร้างความเสียหายกว่า 72 ล้าน USD และถือเป็นหนึ่งในความเสียหายครั้ง ร้ายแรงที่สุดในลาวจากการสร้างเขื่อน แต่ก็อาจจะไม่ได้ สั่นคลอนความฝันของรัฐบาลลาวในการเป็น “หม้อไฟอาซี” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “แบตเตอรี่ของเอเชีย” ที่รัฐบาลลาววางแผนไว้ว่าจะเป็นแหล่งผลิตพลังงานเพื่อป้อนให้กับประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเชียงใต้ ที่กำลังพยายามเร่งพัฒนาเพื่อก้าวตามประเทศโลกที่ 1 ทั้งหลายให้ทัน

ผมไปยังจังหวัดอัตปือร่วมกับเพื่อนนักข่าวอีก 3 คน จากประเทศไทย เพื่อต้องการบอกเล่าเรื่องราวจาก 6 เดือน หลังเขื่อนแตกนี้ พวกเราใช้เวลา 2 อาทิตย์ อยู่ในพื้นที่ที่กว่า 6,000 ครอบครัว ได้รับผลกระทบและใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ของ 5 หมู่บ้าน ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ในระหว่างการทำงานในพื้นที่นั้นชาวบ้านคนหนึ่งได้เอ่ยถึงความฝันของเขาที่คิดว่าจะทำหากไม่เกิดเหตุเขื่อนแตกเสียก่อน ทำให้ผมเกิดไอเดียอยากบันทึกความฝันเหล่านี้ในฐานะ “ความเสียหาย” ที่อาจถูกมองข้ามและละเลยไปในรายงานความเสียหายจากทางรัฐ ดังนั้นค่าความเสียหายที่ไม่ได้ถูกนับในรายงานตัวเลขและความฝันที่หายไปพร้อมกับเขื่อนแตกของพี่น้องลาวในครั้งนี้จึงน่าจะถูกบันทึกเอาไว้ในฐานนะ “ค่าใช้จ่ายที่ชาวบ้านต้องเสียไปกับการสร้างความฝันของรัฐ”

วีระพันธุ์ ไชยโพธิสิทธิ์ อายุ 50 ปี

หลังจากที่เขาทำงานขับรถสิบล้อรับจ้างส่งของอยู่หลายสิบปี วีระพันธุ์ตัดสินใจขายรถสิบล้อของตนเพื่อที่จะมาใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่บ้านเกิด โดยนำทุนที่เหลือมาซื้อที่ดิน สัตว์เลี้ยงเช่น หมู แพะ โดยคิดว่าจะเปิดเป็นฟาร์มเลี้ยงชีพ แต่การลงทุนของเขากับความฝันที่จะมีฟาร์มเพิ่งเริ่มได้ไม่ถึงปีก็ต้องมาประสบกับน้ำจากเขื่อนที่พัดเอาฟาร์มของเขาหายไปจนหมด

เป ศรีปาเสริฐ อายุ 38 ปี

เปเป็นคุณแม่ลูกสาม เธอฝันว่าอยากจะส่งลูกของเธอได้เรียนหยังสือสูงๆ แต่เมื่อเขื่อนแตกทำให้ปัจจุบันเธอไม่มีรายได้ และเงินที่สะสมมาทั้งหมดก็หายไปด้วย ทำให้ในปัจจุบันลูกสาวคนโตของเธอต้องออกจากโรงเรียนและไปทำงานรับจ้างในสวนกล้วย

แซท ไชยโพธิ์สิทธิ์ อายุ 15 ปี

แชทเคยมีไก่ชนรวมกันกว่า 150 ตัว เขาเริ่มต้นจากไก่ 1 คู่ ที่ได้มาจากลุงในจังหวัดปากเซ ไก่ชนเหล่านั้นช่วยทำเงินให้เขาจากการขายให้กับเพื่อนๆในชั้นเรียน แต่เมื่อเขื่อนแตก น้ำได้พัดเอาไก่ชนของเขาหายไปหมด และความฝันที่จะเปิดฟาร์มไก่ชนก็กลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก

สุภาพ ราชวงค์ อายุ 32 ปี

สุภาพเพิ่งกลับมาจากการทำงานในเวียงจันทน์เพียงไม่กี่เดือนก่อนเขื่อนแตก เขาทำงานรับจ้างทั่วไปอยู่ที่เวียงจันทน์หลายสิบปี โดยคิดว่าจะเอาเงินที่เก็บออมมาเปิดโรงเลื่อยไม้ในหมู่บ้าน แต่เมื่อเขื่อนแตกทั้งเงินที่สะสมมาและบ้านเรือนก็หายไปหมด

ใบศรี พาศรักษา อายุ 48 ปี

ใบศรี เป็นแม่บ้านในหมู่บ้านบ้านใหม่ เธอเคยฝันกับลูกสาวคนโตว่าจะเปิดร้านขายเสื้อผ้าในหมู่บ้าน โดยจะไปรับซื้อมาจากจังหวัดอุบลราชธานี แต่เมื่อน้ำจากเขื่อนพัดมาที่หมู่บ้านทำให้ทั้งบ้านและเงินที่สะสมเอาไว้พลัดหายไปกับน้ำจนหมด

ช้าง ศรีจันทร์ อายุ 15 ปี

 ช้างกำลังจะเรียนจบชั้นม. 3 ก่อนที่เขื่อนจะแตก เขาคิดฝันว่าจะเรียนต่อในโรงเรียนบ้านหินลาด ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน สามารถเดินไปได้ แต่เมื่อเขื่อนแตกทำให้เขาต้องเปลี่ยนไปเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในตัวเมืองสนามไชยซึ่งต้องใช้เวลาปั่นจักรยานนานถึง 3-4 ชั่วโมง กว่าจะถึงโรงเรียน 

เขียม อายุ 66 ปี

เขียม เคยฝันเอาไว้ว่าจะต่อเติมห้องครัวใหม่ในช่วงเดือนธันวาคม เพราะเป็นช่วงที่เสร็จสิ้นจากการทำนาพอดี เธอได้เตรียมวัสดุก่อสร้างเอาไว้ทั้งหมดแล้ว ทั้งแผ่นไม้และปูน ความฝันยังไม่ทันถูกสร้างเพราะเขื่อนแตกในเดืิอนกรกฎาคม พัดเอาวัสดุและเงินที่เตรียมเอาไว้หายไปจนหมด

บุญนัง ศรีนวล อายุ 47 ปี

บุญนัง ฝันเอาไว้ว่าจะขายไม้พะยูงที่ตนปลูกเอาไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อน และจะนำเงินนั้นมาปรับปรุงบ้านและใช้ลงทุนปลูกมันสำปะหลัง แต่ความฝันของเขาก็ต้องจมไปหลังจากเขื่อนแตกเพราะต้นไม้ที่เคยปลูกเอาไว้เกือบทั้งหมดถูกน้ำซัดลอยหายไป

ริน ชัยยเชื้อ อายุ 57 ปี

ริน วางแผนไว้ว่าจะสร้างบ้านใหม่ในช่วงเดือนกรกฎาคมเพราะบ้านที่มีอยู่เดิมนั้นเริ่มผุพังแล้ว เธอได้เตรียมทั้งอิฐ ปูน และเหล็กไว้ครบหมดแล้ว แต่เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ก่อนที่จะได้เริ่มทำบ้านก็เกิดเหตุเขื่อนแตกเสียก่อน ของที่เตรียมไว้ก็ถูกพัดหายไปกับน้ำจนหมด

แม่จันทร์ ศรีชานนท์ อายุ 51 ปี

จันทร์  ฝันเอาไว้ว่าจะได้มีชีวิตบั้นปลายอยู่ที่บ้าน คอยดูแลสวนมันสำปะหลังและที่นาของเธอ แต่ในปัจุบันที่ดินทั้งหมดของเธอถูกฝังด้วยโคลนที่สูงเท่าหัวเข่าของเธอ ทำให้ปัจจุบันเธอต้องย้ายไปอยู่ในศูนย์อพยพชั่วคราว